Home » Research » Research Interest Groups

การตรวจวัดความหนาแน่นของกระดูกเพื่อวินิจฉัยภาวะกระดูกพรุน

ข้อมูลโดย ผศ.พญ. คนึงนิจ กิ่งเพชร
สาขาเวชศาสตร์นิวเคลียร์ ภาควิชารังสีวิทยา
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

1. “ ภาวะกระดูกพรุน ”  คืออะไร ?

ภาวะกระดูกพรุน (osteoporosis)  เป็นภาวะที่มีความหนาแน่นของเนื้อกระดูกลดลง  ดังรูปที่1

ส่งผลให้กระดูกขาดความแข็งแรง   ทำให้กระดูกแตกหักได้ง่ายแม้เกิดอุบัติเหตุเพียงเล็กน้อย บริเวณที่พบกระดูกหักจากภาวะกระดูกพรุนได้บ่อย ได้แก่ บริเวณกระดูกข้อมือ กระดูกหลัง และกระดูกสะโพก

a4

รูปที่1. ภาพซ้าย : เป็นกระดูกที่ปกติ ภาพขวา : เป็นกระดูกที่พรุน

a5ภาวะกระดูกพรุนนับเป็น “มฤตยูเงียบ”  เนื่องจากภาวะกระดูกพรุนนั้นจะไม่มีอาการเตือนล่วงหน้ามาก่อน    อาการของโรคกระดูกพรุนนี้มักค่อย ๆ เกิดขึ้นโดยที่เราไม่ทันได้สังเกตเห็น  เช่น  รู้สึกปวดตามบริเวณเอว หลัง  ข้อมือ หรือเริ่มมีรูปร่างเปลี่ยนไป เช่น หลังโก่ง  ไหล่งุ้ม  หรือเตี้ยลง เป็นต้น   จะรู้ตัวว่ามีกระดูกพรุนก็ต่อเมื่อเกิดกระดูกหักเสียแล้ว

ซึ่งการหักของกระดูก  โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณกระดูกสะโพกในคนที่มีภาวะกระดูกพรุนนั้น เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความพิการ เดินไม่ได้ต้องทนทุกข์ทรมาน และมีภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมาอีกมากมาย ดังนั้นเราจึงควรป้องกันหรือรีบรักษาภาวะกระดูกพรุนตั้งแต่ในระยะเริ่มต้น เพื่อป้องกันไม่ให้มีกระดูกหักเกิดขึ้น

2. จะทราบได้อย่างไรว่ามี   “ภาวะกระดูกพรุน” หรือไม่ ?

การตรวจเพื่อวินิจฉัยภาวะกระดูกพรุนทำได้หลายวิธี  สำหรับวิธีที่นิยมทำกันในปัจจุบัน คือการตรวจวัดความหนาแน่นของกระดูก (bone minineral density, BMD)ดังรูปที่ 2  ซึ่งสามารถตรวจวินิจฉัยภาวะกระดูกพรุนได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น

a6

รูปที่ 2.
ภาพซ้าย: แสดงเครื่องตรวจวัดความหนาแน่นของกระดูก ภาพขวา: แสดงการตรวจวัดความหนาแน่นของกระดูก

3. การตรวจวัดความหนาแน่นของกระดูก(BMD) ทำอย่างไร ?

จะใช้เครื่องตรวจที่เรียกว่า Bone densitometer ซึ่งเป็นเครื่องมือการตรวจทางรังสีชนิดหนึ่ง เครื่อง Bone densitometer มีหลายแบบ  แต่ที่นิยมใช้คือแบบที่เรียกว่า Dual Energy X-ray Absorptiometry scanner หรือ DEXA scanner  ตำแหน่งที่ตรวจ คือ บริเวณกระดูกสันหลัง กระดูกสะโพก และบริเวณข้อมือ ดังรูปที่3 เนื่องจากบริเวณเหล่านี้เป็นบริเวณที่พบว่ามีการแตกหักของกระดูกจากภาวะกระดูกพรุนได้บ่อย

 

รูปที่3.  แสดงตำแหน่งที่ใช้ในการตรวจวัดความหนาแน่นของกระดูก คือ บริเวณกระดูกสันหลัง กระดูกสะโพก และข้อมือ

4. หากจะไปรับการตรวจวัดความหนาแน่นของกระดูกจะต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง ?

การตรวจวัดความหนาแน่นของกระดูก เป็นการตรวจที่สะดวกและง่าย  ไม่ต้องมีการเตรียมตัวหรืองดน้ำและอาหารแต่อย่างใด   การตรวจนี้ผู้ป่วยจะได้รับรังสีปริมาณเพียงเล็กน้อย  ใช้เวลาการตรวจประมาณ 5-10 นาที ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับจำนวนบริเวณที่ต้องการตรวจ

5.  ใครบ้างควรเข้ารับการตรวจวัดความแน่นของกระดูกเพื่อวินิจฉัยภาวะกระดูกพรุน ?

ผู้ที่มีภาวะต่างๆ ดังต่อไปนี้ควรเข้ารับการตรวจวัดความหนาแน่นของกระดูก

5.1. ผู้หญิงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป และผู้ชายอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป

5.2. สตรีวัยหมดประจำเดือนที่มีอายุน้อยกว่า 65 ปี และมีปัจจัยเสี่ยงต่อการมีมวลกระดูกต่ำ เช่น น้ำหนักตัวน้อย ( มีดัชนีมวลกายน้อยกว่า 19 กิโลกรัมต่อตารางเมตร)   มีประวัติกระดูกหัก รับประทานยาบางชนิดที่ทำให้มวลกระดูกลดลง  เป็นโรคหรือภาวะที่ทำให้มวลกระดูกลดลง

5.3. ผู้ชายที่มีอายุน้อยกว่า 70 ปี และมีปัจจัยเสี่ยงต่อการมีมวลกระดูกต่ำ เช่น น้ำหนักตัวน้อย ( มีดัชนีมวลกายน้อยกว่า 19 กิโลกรัมต่อตารางเมตร)   มีประวัติกระดูกหัก รับประทานยาบางชนิดที่ทำให้มวลกระดูกลดลง  เป็นโรคหรือภาวะที่ทำให้มวลกระดูกลดลง

5.4.   คนที่มีประวัติกระดูกเปราะและหักง่าย

5.5.   คนที่มีโรคหรือภาวะที่ทำให้มวลกระดูกลดลง เช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์  ภาวะต่อมพาราไทรอยด์ทำงานมากเกินไป เป็นต้น

5.6. คนที่รับประทานยาบางชนิดที่ทำให้มวลกระดูกลดลง เช่น ได้รับยาเพรดนิโซโลนขนาดตั้งแต่ 5 มิลลิกรัมต่อวันขึ้นไปหรือเทียบเท่า เป็นเวลานานกว่า 3 เดือน เป็นต้น

5.7. ผู้ป่วยที่แพทย์จะเริ่มให้ยาเพื่อการรักษาภาวะกระดูกพรุน

5.8. ผู้ป่วยที่แพทย์ต้องการติดตามผลการรักษา หลังจากให้ยาเพื่อรักษาภาวะกระดูกพรุน

6. ควรเข้ารับการตรวจตรวจวัดความหนาแน่นของกระดูก ซ้ำบ่อยแค่ไหน ?

ในผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยยารักษาภาวะกระดูกพรุน ควรเข้ารับการตรวจตรวจวัดความหนาแน่นของกระดูกซ้ำทุก 1-2 ปี   เพื่อประเมินการตอบสนองต่อการรักษา

7. การป้องกันภาวะกระดูกพรุน
การป้องกันภาวะกระดูกพรุน สามารถทำได้ดังต่อไปนี้

  1. ควรสะสมมวลกระดูกให้มากที่สุดตั้งแต่วัยเด็ก    แนะนำให้รับประทานอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่และรับประทานอาหารที่ให้แคลเซี่ยมมาก เช่น ผลิตภัณฑ์จากนม   กุ้งแห้ง  ปลาตัวเล็กๆ     งาดำ ผักใบเขียว เช่น ผักกวางตุ้ง ผักคะน้า ผักบร็อคโคลี่ (เป็นกลุ่มผักที่มีแคลเซี่ยมสูง)
  2. ควรออกกำลังกายอย่างเพียงพอและสม่ำเสมอ
  3. งดการสูบบุหรี่ และดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์