Home » Research » Research Interest Groups

เกี่ยวกับสาขาเวชศาสตร์นิวเคลียร์

ประวัติความเป็นมา

หน่วยไอโซโทปส์

หน่วยไอโซโทปส์ แผนกรังสีวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ได้เริ่มก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2502 ด้วยความช่วยเหลือของ โดยส่ง Mr. Norman Veall แห่ง Guy’s Hospital, London ซึ่งขณะนั้นได้เข้ามาปฏิบัติงานอยู่ในประเทศไทย ในฐานะผู้เชี่ยวชาญในการใช้สารเรดิโอไอโซโทปส์ในทางการแพทย์ ของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างชาติ โดย Mr. Norman Veall ได้เป็นผู้แนะนำในการจัดหาเครื่องมือ วางโครงงาน และช่วยเหลือในการปฏิบัติงานอยู่ชั่วระยะหนึ่ง

เมื่อเริ่มงานตอนแรกนั้น ทางแผนกรังสีวิทยาไม่มีงบประมาณสำหรับตั้งหน่วยไอโซโทปส์เลย โอรสและธิดา ของ ม.ร.ว. โต จิตรพงศ์ ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ได้บริจากเงินให้ซื้อเครื่องมือที่จำเป็น สำหรับปฏิบัติงานไอโซโทปส์ ได้ดังนี้ คือ 1) อุปกรณ์ตรวจวัดที่ประกอบด้วยผลึก NaI ขนาด 1″ x 1″, 2) เครื่องวัดรังสีเบต้าจากตัวอย่างที่เป็นของเหลว และ 3) ขาตั้งสำหรับอุปกรณ์ตรวจวัด

และเนื่องจากแผนกรังสีวิทยายังไม่มีสถานที่ จึงได้อาศัยส่วนหนึ่งของห้องชั้นล่าง ของโรงเรียนเทคนิคการแพทย์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์เป็นห้องปฏิบัติการไอโซโทปส์ ทั้งนี้ด้วยความเอื้อเฟื้อของคณะเทคนิคการแพทย์ นอกจากเอื้อเฟื้อเรื่องสถานที่แล้ว คณะเทคนิคการแพทย์ยังได้กรุณาให้ยืม Scaler 1 เครื่อง ซึ่งเป็นเครื่องมือชิ้นสำคัญชิ้นหนึ่งในการปฏิบัติงาน รวมทั้งเครื่องแก้วและอุปกรณ์อื่นๆในห้องปฏิบัติการอีกด้วย

งานเริ่มแรกของหน่วยไอโซโทปส์นี้ คือการตรวจการทำงานของต่อมไทรอยด์ และรักษาผู้ป่วยโรคต่อมธัยรอยด์เป็นพิษด้วยเรดิโอแอคตีฟไอโอดีน ตรวจหาสาเหตุโรคน้ำในช่องปอด โดยใช้เรดิโอแอคตีฟฟอสฟอรัส การใช้เรดิโอแอคตีฟโบรมีน ในการหา Extracellular Fluid ในคนปกติ และการหา Red Blood Cell Survival โดยใช้เรดิโอแอคตีฟโครเมี่ยม

กิจการได้ขยายตัวเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ ทั้งในด้านบริการแก่โรงพยาบาล และด้านค้นคว้าวิจัย จำเป็นต้องย้ายห้องปฏิบัติการจากห้องชั้นล่างของตึกเทคนิคการแพทย์ขึ้นไป อยู่ชั้น 3 เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2503 ซึ่งด้วยความเอื้อเฟื้อของคณะเทคนิคการแพทย์ให้ใช้ห้องซึ่งว่างอยู่ 2 ห้อง เป็นห้องปฏิบัติการ และห้องทำงานของหน่วยไอโซโทปส์ และประมาณเดือนเมษายน 2503 Mr. J.D. Pearson แห่ง Guy’s Hospital London ผู้เชี่ยวชาญการใช้สารเรดิโอแอคตีฟทางการแพทย์อีกผู้หนึ่ง ของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างชาติ ได้เข้ามาช่วยเหลือและให้คำแนะนำประจำอยู่ที่หน่วยไอโซโทปส์ เป็นเวลาประมาณ 1 ปี ตลอดระยะเวลานี้ Mr. J.D. Pearson ได้ช่วยเหลือในด้านการปฏิบัติงาน แนะนำในการจัดหาเครื่องมือเพิ่มเติม ได้เปิดการบรรยาย และสอนแพทย์ในโรงพยาบาลนี้ ในวิชาที่ว่าด้วยการใช้เรดิโอไอโซโทปส์ในทางการแพทย์ กิจการของหน่วยไอโซโทปส์ ได้ขยายตัวเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ ทางแผนกรังสีวิทยาได้รับงบประมาณจากมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ เพื่อซื้อเครื่องมือใช้เพิ่มขึ้น

img1ปี พ.ศ. 2506 ได้มีการเปิดตึกใหม่คือ ตึกสวัสดิ์-ล้อม โอสถานุเคราะห์ขึ้น เพื่อเป็นการเฉลิมฉลอง การเสด็จนิวัติกลับจากยุโรปและอเมริกาในปี 2503 ดังนั้นหน่วยเรดิโอไอโซโทปส์ จึงได้ย้ายมาอยู่ยังตึกใหม่นี้ การที่มีเนื้อที่ใช้สอยมากขึ้น ทำให้สามารถขยายงานทั้งด้านการตรวจรักษา และการวิจัยมากขึ้น ในปี 2507 จึงได้มีการใช้เรดิโอแอคตีฟโกลด์ชนิดเม็ดในการรักษามะเร็งของช่องปาก กระเพาะอาหาร และกระเพาะปัสสาวะ และใช้เรดิโอแอคตีฟไอโอดีนในการรักษามะเร็งของต่อมไทรอยด์ ในเวลาเดียวกันนั้นเครื่อง Rectilinear scanner (Picker) เครื่องแรกของหน่วยก็ได้รับการติดตั้ง โดยใช้ในการตรวจไทรอยด์และตับเป็นส่วนใหญ่

ในปี พ.ศ. 2518 หน่วยเรดิโอไอโซโทปส์ได้ย้ายมาอยู่ที่ตึกโปษยานนท์ และตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา งานด้านการศึกษาวิจัยและการเรียนการสอนจึงสามารถขยายออกไปได้อย่างกว้างขวาง ส่วนงานด้านการรักษาพยาบาล นอกจากให้บริการแก่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์แล้ว ยังให้บริการแก่แพทย์จากที่อื่นๆอีกด้วย

img2หน่วยเวชศาสตร์นิวเคลียร์ ตั้งอยู่ในตึกโปษยานนท์ จากดาษฟ้าชั้น 5 ของตึกท่านสามารถมองเห็นสวนลุมพินี ซึ่งเป็นสวนสาธารณะแห่งแรกใจกลางกรุงเทพได้อย่างชัดเจน

ชั้นที่ 1 เป็นบริเวณที่ผู้ป่วยมาลงทะเบียนเพื่อเข้ารับการตรวจ รักษา นอกจากนี้เครื่องตรวจทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์ ทั้งหมดก็ตั้งอยู่ในชั้นนี้ด้วย เรามีเครื่องถ่ายภาพรังสีแกมม่าชนิด 1 หัววัดหมุนได้รอบตัว จำนวน 2 เครื่อง ชนิด 2 หัววัด 1 เครื่อง และ ชนิด 3 หัววัด 1 เครื่อง ซึ่งเป็นเครื่อง SPECT ชนิด 3 หัววัดเครื่องแรกในประเทศไทย นอกจากเครื่องถ่ายภาพรังสีแกมม่าดังกล่าว ยังมีเครื่องวัดความหนาแน่นของกระดูก (Bone Densitometer) จำนวน 3 เครื่อง

 

img4ชั้นที่ 2 เป็นที่ตั้งของห้องตรวจผู้ป่วยโรคไทรอยด์ ห้องอ่านผล scan ห้อง computer และห้องทำงานของเลขาหน่วย

img5ชั้นที่ 3 เป็นที่ตั้งของห้องปฏิบัติการ Radioimmunoassay และ Immunoradiometric assay ซึ่งมีบริการตรวจหาฮอร์โมนของต่อมไทรอยด์ tumor marker และ serum iron

img6ชั้นที่ 4 เป็นที่ตั้งของห้องปลอดเชื้อ ซึ่งเป็นสถานที่เตรียมสารเภสัชรังสี และสารเภสัชที่ผลิตได้เอง เช่น DTPA, DMSA, MDP, Phytate เป็นต้น นอกจากนี้ยังเป็นห้องสำหรับการติดฉลากเม็ดเลือดแดงและเม็ดเลือดขาว ซึ่งต้องกระทำโดยเทคนิคปราศจากเชื้อด้วย