ประวัตินักรังสีเทคนิค

ประวัติการพัฒนาสายงานทางด้านรังสีเทคนิค

ย้อนกลับไปเมื่อครั้งที่ได้มีการก่อตั้งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2457 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงทำพิธีเปิดโรงพยาบาล โดยมีนายพันตรี หลวงศักดาพลรักษ์ (เสก ธรรมสโรช) ซึ่งรั้งตำแหน่งหัวหน้าหน่วยงาน “แพนกไฟฟ้าและราดิอุม” ในขณะนั้น ได้เป็นผู้ ถวายการฉายเอกซเรย์ ซึ่งหน่วยงานดังกล่าว ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น “หมวดแสงรัศมี” “แผนกรังสีวิทยา” และ “ฝ่ายรังสีวิทยา” ตามลำดับ

ในส่วนของเจ้าหน้าที่ที่ทำการปฏิบัติงานการฉายเอกซเรย์ในช่วงแรกนั้น ล้วนแล้วแต่เป็นทหารเสนารักษ์ (บุรุษพยาบาล) ซึ่งได้รับการอบรมให้มีความรู้ในด้านเทคนิคการฉายเอกซเรย์ เพราะในขณะนั้นกล่าวได้ว่ายังไม่มีผู้ที่จบ การศึกษามาทางด้านนี้โดยตรง แต่อย่างไรก็ตาม ฝีมือการถ่ายภาพเอกซเรย์ของเหล่าทหารเสนารักษ์จัดได้ว่ามีคุณภาพสูง และต่อมาก็ได้เป็นครูถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ทางด้านการถ่ายภาพเอกซเรย์ให้กับพยาบาลและคนงานที่เข้ามา สังกัดแผนกรังสีวิทยา ดังนั้นพยาบาลที่เข้ามาทำงานในแผนกรังสีวิทยาในขณะนั้น จึงมีความสามารถในการถ่ายภาพ เอกซเรย์ไปโดยปริยายและต่อมาก็เริ่มมีการรับเจ้าหน้าที่รังสีเทคนิคซึ่งสำเร็จการศึกษาหลักสูตร 2 ปีจากโรงเรียนรังสี เทคนิคโรงพยาบาลรามาธิบดีเข้ามาทำงาน

หลังจากนั้นไม่นานนัก งานของแผนกรังสีวิทยาได้มีการขยายตัวมากขึ้น จึงได้มีการก่อสร้างอาคารสวัสดิ์ – ล้อม โอสถานุเคราะห์ ในปี พ.ศ. 2503 ซึ่งมีลักษณะเป็นอาคารสูง 3 ชั้น เพื่อรองรับเครื่องมือทางรังสีวิทยาที่มีความหลากหลาย และมีความจำเป็นที่จะต้องใช้พื้นที่มากขึ้น โดยชั้นที่ 1 ใช้เป็นสถานที่ตรวจเอกซเรย์วินิจฉัย ชั้นที่ 2 ใช้เป็นสถานที่รักษา ผู้ป่วยโรคมะเร็งและห้องผ่าตัดใส่แร่ และชั้นที่ 3 ใช้เป็นหน่วยไอโซโทปส์ ซึ่งงานทางรังสีเทคนิค ในขณะนั้นเป็นการทำงาน ร่วมกันของทหารเสนารักษ์ พยาบาล เจ้าหน้าที่รังสีเทคนิค และคนงาน ซึ่งต่อมางานทางรังสีเทคนิคเริ่มมีการแยกออก เป็นงานทางด้านรังสีวิทยาวินิจฉัย งานด้านรังสีรักษาและมะเร็งวิทยา และงานด้านเวชศาสตร์นิวเคลียร์

ตำแหน่ง “นัก/เจ้าหน้าที่รังสีเทคนิค” ในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ถูกเรียกว่า “นัก/เจ้าหน้าที่รังสีการแพทย์” สำหรับหนังสือเล่มนี้จะใช้คำว่า “นัก/เจ้าหน้าที่รังสีเทคนิค”