งานด้านรังสีรักษาและมะเร็งวิทยา

งานด้านรังสีรักษาและมะเร็งวิทยา

aในระยะแรกของสาขารังสีรักษาและมะเร็งวิทยาเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติการด้าน รังสีรักษาถือเป็นภาระของบุรุษ พยาบาล เจ้าหน้าที่เสนารักษ์และพยาบาล โดยเมื่อเริ่มมีการใช้รังสีเพื่อรักษาโรคผิวหนังในปี พ.ศ. 2483 ได้ใช้เครื่อง เอกซเรย์ Keleket ซึ่งเป็นเครื่องเอกซเรย์วินิจฉัย บุคลากรที่ปฏิบัติงานเป็นเจ้าหน้าที่ของหน่วยรังสีวินิจฉัย คือ นายฟูศักดิ์ ชุณห์งาม และนายหวาน หรั่งแรงกิจ ต่อมานายหวาน หรั่งแรงกิจ ซึ่งนับเป็นเจ้าหน้าที่รังสีคนแรกของหน่วยรังสีรักษา ได้ย้ายมาอยู่ที่หน่วยรังสีรักษา และเมื่อมีการจัดตั้งหน่วยรังสีรักษาในปี พ.ศ. 2494 ก็ได้มีการจัดซื้อเครื่องเอกซเรย์ ระยะลึก ติดตั้งที่อาคารอภันตรีปชา ร่วมกับการจัดซื้อแร่เรเดียมและจัดซื้อเครื่องเอกซเรย์สัมผัส (contact x-rays) ในปี พ.ศ. 2496 และจัดซื้อเครื่องเอกซเรย์พื้นผิว (superficial x-rays) ในปี พ.ศ. 2498 ต่อมาในปี พ.ศ. 2502 ได้มีการติดตั้ง เครื่องโคบอลต์-60 เครื่องแรกของประเทศไทยและได้ใช้งานจนถึงปี พ.ศ. 2507 จึงได้เปลี่ยนเครื่องใหม่ ในปี พ.ศ. 2507 นี้เช่นกัน โดยได้มีการติดตั้งเครื่องโคบอลต์เพิ่มขึ้นอีกจำนวน 1 เครื่องโดยได้รับบริจาคจากรัฐบาลแคนาดา

ในช่วงปี พ.ศ. 2496 – พ.ศ. 2506 เริ่มมีการบรรจุบุคลากรในตำแหน่งพนักงานเทคนิครังสีรักษาจำนวน 6 คน เพื่อมาปฏิบัติงานที่ห้องโคบอลต์และดูแลเรเดียม โดยแต่เดิมนั้นบุคลากรเหล่านี้เป็นบุรุษพยาบาลประจำอยู่ที่อาคารต่างๆ ในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

หลังจากนั้นได้มีการนำพยาบาลมาปฏิบัติงานด้านฉายรังสี (พ.ศ. 2508 – พ.ศ. 2519) โดยเริ่มจากพยาบาล คนแรก คือ นางบัวผัน สุขะวัฒนะ ได้รับการบรรจุเข้าทำงานเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2508 ต่อมา ได้เลื่อนตำแหน่ง เป็นหัวหน้าหอผู้ป่วยอาคารโคบอลต์และได้โอนย้ายนางสายบัว สุขสุวรรณ ซึ่งบรรจุเข้าทำงานมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2506 จากหน่วยรังสีวินิจฉัยมาประจำที่รังสีรักษา ต่อมานางสายบัว สุขสุวรรณได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ตรวจการเฉพาะทางรังสีวิทยา นอกจากนี้ได้บรรจุพยาบาลอีกจำนวน 3 คน (พ.ศ. 2514 – พ.ศ. 2519) และหลังจากปี พ.ศ. 2532 พยาบาลเหล่านี้ ได้ย้ายกลับมาปฏิบัติหน้าที่พยาบาลดังเดิมและได้มีการขออัตราพนักงานวิทยา ศาสตร์การแพทย์สังกัดคณะแพทยศาสตร์จำนวน 2 อัตรา เพื่อปฏิบัติหน้าที่ฉายรังสีผู้ป่วย โดยบรรจุนางปราณี โพธิ์มีเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2517และได้เกษียณ อายุงานก่อนกำหนด (early retire) ไปเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2542 จากนั้นจึงได้บรรจุนางนวลพรรณ โตอินทร์ เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2517 และเกษียนอายุราชการเมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2550 ซึ่งอัตราที่ว่างลงนี้ ได้ปรับ เปลี่ยนเป็นตำแหน่งเจ้าหน้าที่สำนักงาน (บริหารงานทั่วไป P7) โดยบรรจุ น.ส.กีรติกา ไทรจันทร์ เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2551

เจ้าหน้าที่คนแรกที่จบทางด้านรังสีเทคนิคคือ นายวราจิณ บุญคง โดยได้รับการบรรจุเข้าทำงานในตำแหน่ง พนักงานรังสี เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2514 และได้เปลี่ยนมาเป็นตำแหน่งเจ้าหน้าที่รังสีเทคนิค

หลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2527 – พ.ศ. 2532 มีเจ้าหน้าที่วุฒิปริญญาตรี สาขารังสีเทคนิคเพิ่มขึ้นอีกจำนวน 3 คน

สาขารังสีรักษาและมะเร็งวิทยาได้ก้าวเข้าสู่ยุคของเครื่องฉายรังสีแบบ เร่งอนุภาค (Linear Accelerator) โดยได้เริ่ม ติดตั้งในวันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2532 และเริ่มใช้งานในปี พ.ศ. 2533 และเปิดสอนอย่างต่อเนื่อง ซึ่ง ผู้ช่วยศาสตราจารย์แพทย์หญิงสุรีย์ ฐิตะฐาน หัวหน้าสาขารังสีรักษาและมะเร็งวิทยาในขณะนั้น ได้เล็งเห็นถึงปัญหาการ ขาดแคลนเจ้าหน้าที่รังสีเทคนิค ประกอบกับโรงเรียนรังสีเทคนิค หลักสูตร 2 ปี โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้เปิดการเรียนการสอนมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2525 จึงดำเนินการส่งเสริมคนงานให้ศึกษาต่อและจัดหาทุนให้แก่นักศึกษา รังสีเทคนิคปีละ 2 ทุนอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 7 ปี นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 – พ.ศ. 2543 (ตั้งแต่รุ่นที่ 11 ถึงรุ่นที่ 17 แต่นักศึกษารุ่นที่ 13 ได้ใช้ทุนจึงไม่ได้ทำงานที่สาขารังสีรักษาและมะเร็งวิทยา) ทั้งนี้รวมนักศึกษาที่ได้รับทุนและ เข้าปฏิบัติงาน (พ.ศ. 2537 – พ.ศ. 2543) จำนวน 12 คน แต่เมื่อปฎิบัติงานไปได้ระยะหนึ่งก็ลาออก ปัจจุบันคงเหลือ ผู้รับทุนปฏิบัติงานอยู่เพียง 5 คน

ในปี พ.ศ. 2542 ได้มีการเลิกใช้เครื่องโคบอลต์ Theratron 80 ภายหลังจากที่ใช้งานมาเป็นระยะเวลาถึง 34 ปี (พ.ศ. 2508 – พ.ศ. 2542) และติดตั้งเครื่องฉายรังสี Theratron Elite 80 ทดแทนในช่วงปลายปี พ.ศ. 2542 นั่นเอง

ต่อมาผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์ประยุทธ์ โรจน์พรประดิษฐ์ หัวหน้าสาขารังสีรักษาและมะเร็งวิทยา ในขณะนั้น ได้ตระหนักถึงปัญหาการรอคิวฉายรังสีของผู้ป่วยที่ใช้เวลานาน จึงดำเนินโครงการปรับปรุงอาคารเอลิสะเบธ จักรพงษ์ และร่วมก่อตั้งศูนย์ฉายรังสีผู้ป่วยมะเร็งเต้านมร่วมกับรองศาสตราจารย์ นายแพทย์กฤษณ์ จาฎามระ โดย ได้ติดตั้งเครื่องจำลองการฉายรังสีแบบ 2 มิติ (Acuity simulator) เครื่องจำลองการฉายรังสีแบบ 3 และ 4 มิติชนิด โดยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT simulator) ซึ่งถือเป็นเครื่องแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมถึงเครื่องฉาย รังสีแบบเร่งอนุภาค 21EX และ 23EX ที่สามารถฉายรังสีในเทคนิคพิเศษแบบปรับความเข้มได้ ในปี พ.ศ. 2547 ซึ่งในขณะนั้นถือว่าโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เป็นสถาบันที่มีเครื่องเร่งอนุภาคมากที่สุดในประเทศไทย และจากความเพียบพร้อมในเครื่องมือที่ทันสมัย ทางสาขาฯ จึงได้มีการพัฒนาบุคลากรโดยการส่งเจ้าหน้าที่รังสีเทคนิค เข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี

ในปี พ.ศ. 2552 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์ชลเกียรติ ขอประเสริฐ หัวหน้าสาขารังสีรักษาและมะเร็งวิทยา ได้ดำเนินการจัดซื้อและติดตั้งเครื่องเร่งอนุภาค ClinacIX (Rapid Arc) มาแทนที่เครื่องเร่งอนุภาค Clinac 1800 หลังจาก ใช้งานมาเป็นระยะเวลา 20 ปี (พ.ศ. 2532 – พ.ศ. 2552) ซึ่งเครื่อง Rapid Arc นี้เป็นเครื่องแรกในประเทศไทยที่สามารถ ทำการรักษาผู้ป่วยด้วยเทคนิคปรับความเข้มรอบตัวผู้ป่วยได้ซึ่งสามารถลดเวลา การฉายรังสีลง ทำให้สามารถรับจำนวน ผู้ป่วยมารักษาได้มากขึ้น นอกจากนี้ทางสาขารังสีรักษาและมะเร็งวิทยายังได้ติดตั้งเครื่องจำลองการฉาย รังสีโดยอาศัย เครื่องสร้างภาพด้วยคลื่นสะท้อนในสนามแม่เหล็ก (MRI Simulator) ในปี พ.ศ. 2555 ซึ่งเครื่องนี้นับเป็นเครื่อง MRI Simulator เครื่องแรกในภูมิภาคเอเชีย

a2

ในปี พ.ศ. 2554 สาขารังสีรักษาและมะเร็งวิทยาได้มีการโอนย้ายเจ้าหน้าที่รังสีเทคนิคมาจาก สาขารังสีวิทยา วินิจฉัย และรับเจ้าหน้าที่/นักรังสีเทคนิคแทนที่คนเก่าที่ลาออกไปอีกจำนวน 3 อัตรา

ในปี พ.ศ. 2554 ทางสาขารังสีรักษาและมะเร็งวิทยาได้ทำการปรับปรุงอาคารอับดุลราฮิมโดยการนำ เครื่อง โคบอลต์-60 ทั้ง 2 เครื่องออก (Eldorado78: 2519 – 2551, Theratron Elite 80: 2542 – 2554) เพื่อติดตั้งเครื่อง จำลองการฉายรังสีแบบ 3 มิติ และเครื่องเร่งอนุภาคอีก 3 เครื่อง (True beam 2 เครื่อง และ Rapid Arc 1 เครื่อง) ในปี พ.ศ. 2556 ในการนี้ทางสาขารังสีรักษาและมะเร็งวิทยาได้ตระเตรียมกำลังคน โดยการรับเจ้าหน้าที่รังสีเทคนิคเพิ่มอีก จำนวน 3 อัตรา (พ.ศ. 2555) และมีกำหนดการเปิดใช้เครื่องในต้นปี พ.ศ. 2557 นี้ อย่างไรก็ตามในระหว่างนี้มีเจ้าหน้าที่ ลาออกและลาศึกษาต่อ คงเหลือเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานทั้งหมดเพียง 17 คน และมีเจ้าหน้าที่ part time อีกจำนวน 1 คน ซึ่งหากเครื่องมือใหม่เปิดใช้ ก็มีความต้องการบุคลากรเพิ่มขึ้นอีก 10 อัตรา ทางสาขาฯ จึงได้ทำโครงการขออัตรา กำลังไว้และได้รับการอนุมัติแล้ว ขณะนี้อยู่ในระหว่างการรับสมัคร แต่ก็น่าจะหาผู้สมัครได้ยากเนื่องจากยังเป็นสาขา ที่มีความขาดแคลนในประเทศไทย

กล่าวโดยสรุปแล้ว สาขารังสีรักษาและมะเร็งวิทยาได้ประสบกับปัญหาการขาดแคลนนักรังสีเทคนิคเช่น เดียวกับ สาขารังสีวิทยาวินิจฉัย และถือเป็นปัญหาระดับชาติที่ไม่สามารถผลิตนักรังสีเทคนิคให้เพียงพอกับความ ต้องการและ การขยายเครื่องมือและการบริการในประเทศได้ จึงเป็นสิ่งที่ยังคงต้องหาวิธีการแก้ปัญหาต่อไป