รองศาสตราจารย์ศิวลี สุริยาปี

ScreenHunter_10 Jan. 08 15.00นักฟิสิกส์การแพทย์คนที่สองคือ รองศาสตราจารย์ศิวลี สุริยาปี ซึ่งท่านได้สำเร็จการศึกษาระดับวิทยาศาสตร บัณฑิต สาขาฟิสิกส์ และวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขานิวเคลียร์เทคโนโลยีจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและได้ เข้ารับราชการในคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปี พ.ศ. 2513 จวบจนกระทั่งเกษียณอายุราชการในปี พ.ศ. 2551 และต่ออายุราชการจนถึงปัจจุบัน ซึ่งท่านนับเป็นนักฟิสิกส์การแพทย์ที่ปฏิบัติงานในระยะเวลาที่ยาวนานที่ เริ่มจากยุคที่ใช้เครื่องโคบอลต์-60 พัฒนาสู่เครื่องเร่งอนุภาค จนถึงยุคเครื่องฉายรังสีที่ควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นเครื่องที่มีเทคโนโลยีสูง ฉายรังสีในระบบ 3 – 4 มิติแบบปรับความเข้ม รวมทั้งการใช้ระบบภาพนำวิถีตรวจสอบ ตำแหน่งของลำรังสี ในด้านการเรียน การสอน ท่านมีหน้าที่รับผิดชอบการสอนวิชาฟิสิกส์ ทางรังสีรักษาแก่นิสิตแพทย์ แพทย์ประจำบ้านสาขารังสีวิทยา เจ้าหน้าที่รังสีการแพทย์ และนักฟิสิกส์การแพทย์สาขาฉายาเวชศาสตร์ นอกนั้นแล้ว รองศาสตราจารย์ศิวลี สุริยาปี ยังเป็นผู้ที่มีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบการเรียนการสอน การเปิดหลักสูตรรังสีเทคนิค ระดับอนุปริญญา หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาฉายาเวชศาสตร์ ที่เลือกเฉพาะทางรังสีรักษา การจัดฝึกอบรม ระยะสั้นแก่แพทย์และนักวิทยาศาสตร์จากประเทศในภูมิภาคเอเชียที่เข้ามารับการ ฝึกอบรมทางด้านรังสีรักษาโดยการ สนับสนุนของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ รวมทั้งการจัดเป็นศูนย์ฝึกอบรมทางรังสีรักษาระยะใกล้แบบ 3 มิติ ด้วยภาพจากเครื่อง MRI โดยร่วมมือกับ Medical University of Vienna และบริษัท Elekta

ในการพัฒนางานของฟิสิกส์การแพทย์ รองศาสตราจารย์ศิวลี สุริยาปี ได้ทำงานร่วมกับสมาคมนักฟิสิกส์ การแพทย์ไทย ฝึกอบรมนักฟิสิกส์การแพทย์ที่อ่อนอาวุโส เพื่อเป็นนักฟิสิกส์การแพทย์ที่มีศักยภาพตามมาตรฐาน สากลหลักสูตร 2 ปี (พ.ศ. 2550 – พ.ศ. 2552) โดยใช้หลักสูตรของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ ซึ่งสาขารังสีรักษาและมะเร็งวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ได้ส่งนักฟิสิกส์การแพทย์เข้าอบรมจำนวน 3 คน โดยรองศาสตราจารย์ศิวลี สุริยาปี เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาหลักการพัฒนางานของสาขารังสีรักษาและมะเร็งวิทยา ทำให้มีการสร้างนักฟิสิกส์การแพทย์เป็นทีมที่มีศักยภาพ และนอกจากการฝึกอบรมดังกล่าวแล้วสาขารังสีรักษาและมะเร็ง วิทยายังได้ให้การสนับสนุนนักฟิสิกส์การแพทย์ในการศึกษาต่อระดับปริญญาเอก การเข้าร่วมประชุมวิชาการ การเสนอ ผลงานวิชาการ การตีพิมพ์ผลงานวิจัยในวารสารทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติ รวมถึงการพัฒนานักฟิสิกส์ การแพทย์ที่สามารถปฏิบัติงานได้ตามเทคโนโลยีการฉายรังสีที่พัฒนาอย่างต่อ เนื่อง อันจะนำไปสู่ความเป็นเลิศของ สาขารังสีรักษาและมะเร็งวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

ปัจจุบันมีนักฟิสิกส์การแพทย์ สาขารังสีรักษาและมะเร็งวิทยา สภากาชาดไทย จำนวน 8 คนที่เข้าปฏิบัติงาน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2527 จำนวน 1 คน และปี พ.ศ. 2546 – ปัจจุบัน จำนวน 7 คน โดยมีผู้ที่สำเร็จการศึกษาระดับดุษฎีบัณฑิต สาขานิวเคลียร์เทคโนโลยี เมื่อปี พ.ศ. 2555 จำนวน 1 คน และกำลังอยู่ในระหว่างการศึกษาที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจำนวน 2 คน สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทจำนวน 5 คน และรอรับการบรรจุอีกจำนวน 1 คน