รองศาสตราจารย์ นายแพทย์บุญเที่ยง ศีติสาร (30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2525 – 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2529)
รองศาสตราจารย์ นายแพทย์บุญเที่ยง ศีติสาร สำเร็จการศึกษาแพทยศาสตรบัณฑิต จากมหาวิทยาลัย แพทยศาสตร์เมื่อปี พ.ศ. 2501 และเป็นแพทย์จุฬาฯ รุ่นที่ 8 หลังจากนั้น ท่านจึงได้เข้าเป็นแพทย์ประจำบ้านและ แพทย์ประจำบ้านอาวุโส แผนกรังสีวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญในตำแหน่งอาจารย์ แผนกรังสีวิทยา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2504 และในระหว่างปี พ.ศ. 2506 – 2509 ท่านก็ได้เดินทางไป ศึกษาต่อที่ University of Rochester ประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นเวลา 3 ปี และได้รับ Diploma of American Board of Radiology หลังจากนั้นท่านจึงได้นำเอาความรู้และวิวัฒนาการทางด้านวิชาการทางรังสี วิทยาที่ได้พบเห็นกลับมา ถ่ายทอดให้แก่นิสิตแพทย์ แพทย์ประจำบ้าน และแพทย์ทั่วไปเป็นจำนวนมาก ท่านยังเป็นครูที่เปี่ยมไปด้วยความเมตตา กรุณา มีความเสียสละทุ่มเท มีความอดทน และใจเย็นอย่างยิ่งต่อศิษย์และผู้ร่วมงานทุกระดับเป็นอย่างสูง ท่านเป็น รังสีแพทย์ที่เชี่ยวชาญทางด้านระบบ Musculoskeletal เป็นอย่างยิ่ง และท่านยังได้ร่วมในการร่างหลักสูตรต่างๆ ทั้งในระดับปริญญาและหลังปริญญาของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและของแพทยสภา โดยที่ท่าน ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นทั้งอนุกรรมการและประธานอนุกรรมการสอบความรู้ความ ชำนาญของแพทย์ประจำบ้านทาง รังสีวิทยาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลายาวนาน
ในวงการวิชาการสาขารังสีวิทยาระดับนานาชาติ ท่านได้รับการยอมรับและเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางทั้งใน กลุ่มของ Association of Radiology, Asian Oceanian Society of Radiology และ International Society of Radiology โดยท่านได้เดินทางไปร่วมประชุมเพื่อเสนอบทความทางวิชาการในการประชุมของ สมาคมต่างๆ ทั้งใน ประเทศและต่างประเทศอย่างสม่ำเสมอ นอกจากนั้นท่านยังเคยได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้แทนของประเทศไทยอย่างเป็น ทางการ เพื่อเข้าร่วมประชุมนานาชาติหลายครั้ง และท่านยังได้ร่วมเป็นคณะกรรมการจัดประชุม Asian Oceanian Congress of Radiology (AOCR) ในประเทศไทย จนได้รับรางวัลการจัดประชุมวิชาการนานาชาติดีเด่นจาก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หลังจากนั้นท่านจึงได้รับเป็นประธานในการจัดประชุม Congress of Asian Association of Radiology (AAR) ในเวลาต่อมา นอกจากนี้ท่านยังเป็นผู้ริเริ่มโครงการแลกเปลี่ยนทางวิชาการรังสีวิทยา ระหว่าง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและรังสีวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทยกับ Utrecht University ประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งทำให้ รังสีแพทย์รุ่นหลังๆ ได้มีโอกาสเดินทางไปศึกษาและฝึกอบรมระยะสั้นเพิ่มเติม ณ ประเทศเนเธอร์แลนด์เป็นจำนวนมาก
ในด้านการบริหารงานท่านเป็นผู้หนึ่งที่ทำ หน้าที่ บุกเบิกและพัฒนาระบบงานภายในภาควิชารังสีวิทยาเพื่อให้มี การทำงานที่คล่องตัว สะดวก รวดเร็ว ดังจะเห็นได้จากในปี พ.ศ. 2513 ท่านได้เสนอให้มีการจัดระบบเก็บฟิล์มตาม Hospital Number และให้มีการจัดทำ Index Card ตามพยัญชนะของชื่อ นามสกุล ควบคู่กันไปด้วย
นอกจากนั้นท่านยังได้เป็นผู้ร่วมริเริ่มก่อ ตั้งโรงเรียนรังสีเทคนิค โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เพื่อการเพิ่มการผลิตเจ้าหน้าที่รังสีเทคนิคให้บรรลุเป้าหมายตามความต้องการ ของประเทศและแก้ไขสภาวะขาดแคลน บุคลากรด้านรังสีวิทยาได้เป็นอย่างดี
นอกจากนั้นแล้ว ท่านยังเป็นผู้หนึ่งในการริเริ่มก่อตั้งศูนย์ป้องกันและรักษาโรคมะเร็งของ โรงพยาบาล จุฬาลงกรณ์ โดยที่ท่านได้ดำเนินการระดมทุนด้วยวิธีต่างๆ และรับบริจาคจากผู้มีจิตศรัทธาอย่างแข็งขันจนกระทั่ง สามารถดำเนินการก่อสร้างอาคารล้วน – เพิ่มพูล ว่องวานิช ซึ่งเป็นอาคารขนาดใหญ่ ความสูง 9 ชั้นได้เป็นผลสำเร็จ
รองศาสตราจารย์ นายแพทย์บุญเที่ยง ศีติสาร นับเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในด้านการบริหารงานจนได้รับการ มอบหมายและได้รับการแต่งตั้งและเลือกตั้งเป็นหัวหน้าภาควิชารังสีวิทยา, เลขาธิการและนายกรังสีวิทยาสมาคม แห่งประเทศไทยหลายสมัย อีกทั้งยังเป็นผู้ก่อตั้งวิทยาลัยรังสีแพทย์แห่งประเทศไทย ซึ่งภารกิจเหล่านี้กล่าวได้ว่าเป็นงานที่ หนักและยากยิ่ง ท่านจึงเป็นบุคคลที่ทรงคุณค่า ยากจะหาผู้อื่นมาทดแทนได้ และเป็นที่รู้จักกันดีในนามของ “อาจารย์เที่ยง”