รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงวัชรี บัวชุม

รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงวัชรี บัวชุม (30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2541 – 30 กันยายน พ.ศ. 2544)

pic27รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงวัชรี บัวชุม สำเร็จการศึกษาแพทยศาสตรบัณฑิต โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ เมื่อปี พ.ศ. 2510 และเป็นแพทย์จุฬาฯ รุ่นที่ 17 โดยหลังจากที่ท่านจบแพทย์ฝึกหัดและ ได้เป็นแพทย์ประจำบ้านอายุรศาสตร์เป็นระยะเวลา 1 ปีแล้ว ท่านก็ได้เข้าปฏิบัติงานในสาขาเวชศาสตร์นิวเคลียร์และ ได้รับการบรรจุเป็นอาจารย์ ภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปี พ.ศ. 2513 และได้รับ อนุมัติบัตรผู้เชี่ยวชาญสาขารังสีรักษาและเวชศาสตร์นิวเคลียร์จากแพทยสภา ในปี พ.ศ. 2518 และต่อมาเป็น Research Fellow in Physics and Nuclear Medicine ณ Mount Sinai School of Medicine มลรัฐนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ในปี พ.ศ. 2520

นับเป็นระยะเวลาอันยาวนานที่รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงวัชรี บัวชุมได้ทุ่มเทแรงกายและแรงใจในการทำงาน เพื่อสาขาเวชศาสตร์นิวเคลียร์ เพื่อภาควิชารังสีวิทยา เพื่อคณะแพทยศาสตร์ และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ จึงไม่น่า แปลกใจที่ท่านจะเป็นที่รักของศิษย์ เพื่อนร่วมงาน และเจ้าหน้าที่ทุกคน ซึ่งนั่นเป็นเพราะท่านเป็นผู้ที่มีความเมตตา โอบอ้อมอารี มีความเที่ยงธรรม และที่สำคัญที่สุดคือ ท่านเป็นผู้ที่มีความจริงใจกับทุกๆ คน

ในฐานะของการเป็นอาจารย์เวชศาสตร์นิวเคลียร์ ท่านมีความตั้งใจและมีความมุ่งมั่นในการถ่ายทอด ความรู้ให้แก่ศิษย์ทุกคนด้วยความสามารถ เฉพาะตัวของท่านในการอธิบายเนื้อหาที่ยากให้สามารถเข้าใจได้ง่าย และจะสอดแทรกเรื่องคุณธรรมและจริยธรรมอยู่เสมอ โดยเฉพาะสิ่งที่แพทย์พึงปฏิบัติต่อผู้ป่วยอยู่เสมอ นั่นจึงทำให้ ลูกศิษย์ทุกคนต่างได้เรียนรู้และซึมซับความเป็นแพทย์ที่ดีจากสิ่งที่ท่านได้ พร่ำสอนและจากการที่ได้เห็นท่านปฏิบัติต่อ ผู้ป่วยด้วยความเมตตาและเห็นอกเห็นใจอยู่เสมอ และนอกเหนือจากงานทางด้านการสอนแล้ว ท่านยังได้ช่วยให้ งานบริการและงานวิจัยของสาขาฯ มีความเจริญรุดหน้าอย่างต่อเนื่อง โดยท่านได้ช่วยอาจารย์ทวีป อาจารย์วิชัย และอาจารย์มาคุ้มครอง สานต่องานในด้านต่างๆ รวมถึงการให้ความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับทบวงการพลังงานปรมาณู ระหว่างประเทศ (IAEA) และการสร้างความสัมพันธ์กับสถาบันอื่นๆ ทั้งในและต่างประเทศ ทำให้เราเป็นสถาบันที่มี ชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับในกลุ่มประเทศแถบเอเชีย ดังจะเห็นได้จากชาวต่างชาติโดยเฉพาะจากประเทศเพื่อนบ้านที่ได้ รับทุนจาก IAEA มาฝึกอบรมดูงานที่สาขาเวชศาสตร์นิวเคลียร์ จุฬาฯ ซึ่งทุกคนจะได้รับการต้อนรับและดูแลอย่างดียิ่ง ประดุจญาติมิตรจากท่าน

นอกเหนือจากงานในหน้าที่โดยตรงของท่านแล้ว ท่านยังมีภาระงานด้านบริหารอีกมากมาย ได้แก่

  • หัวหน้าสาขาเวชศาสตร์นิวเคลียร์ (พ.ศ. 2529 -2544)
  • ประธานคณะกรรมการอาจารย์ที่ปรึกษา คณะแพทยศาสตร์ (พ.ศ. 2535 – 2539)
  • หัวหน้าภาควิชารังสีวิทยา (พ.ศ. 2541 – 2544)
  • รองผู้อำนวยการฝ่ายบริการ โรงพยาบาลจุฬาฯ (พ.ศ. 2542 – 2544)
  • ผู้จัดการคลินิกพิเศษนอกเวลาราชการ คณะแพทยศาสตร์และโรงพยาบาลจุฬาฯ (พ.ศ. 2538 –   2550)
  • ประธานวิชาการสมาคม เวชศาสตร์นิวเคลียร์แห่งประเทศไทย และชมรม Nuclear Cardiology                     แห่งประเทศไทย (พ.ศ. 2538 – 2540)
  • นายกสมาคมเวชศาสตร์นิวเคลียร์แห่งประเทศไทย (พ.ศ. 2541 -2546)
  • กรรมการบริหาร ราชวิทยาลัยรังสีแพทย์แห่งประเทศไทยและรังสีวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย หลายวาระ รวมถึงการเป็นกรรมการบริหารสมาคมศิษย์เก่าแพทย์จุฬาฯ ทั้งนี้ ท่านได้เกษียณอายุราชการในปี พ.ศ. 2544

รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงวัชรี บัวชุม นับว่าเป็นผู้หนึ่งที่มีกลยุทธ์ในการบริหารที่ดีเยี่ยม โดยท่าน จะเป็นแม่แบบที่ดีในการปฏิบัติงาน เป็นผู้ที่รักษากฎระเบียบ ให้คำชมเชยเมื่อลูกน้องปฏิบัติงานได้ดีและว่ากล่าว ตักเตือนอย่างตรงไปตรงมา พร้อมทั้งพร่ำสอนเมื่อลูกน้องปฏิบัติงานผิดพลาด เพื่อให้งานมีการพัฒนาที่ดีขึ้น นอกจากนี้ท่านยังเปิดใจกว้างที่จะรับฟังความคิดเห็น รวมถึงความทุกข์ ความเดือดร้อนของบุคลากร และให้ความ ช่วยเหลือโดยไม่หวังผลตอบแทนใดๆ ทั้งสิ้น

ด้วยจิตใจที่เปี่ยมไปด้วยความมุ่งมั่นและยึด ถือประโยชน์ส่วนรวมและ ประโยชน์ของผู้ป่วยเป็นที่ตั้งประกอบกับ การทุ่มเททั้งกำลังกายและกำลังใจให้กับการทำงานเสมอมา จึงทำให้ รองศาสตราจารย์แพทย์หญิงวัชรี บัวชุม ประสบ ความสำเร็จในงานต่างๆ ที่ทำและน้อมนำความเจริญก้าวหน้า มาสู่ภาควิชาคณะแพทยศาสตร์ และโรงพยาบาล จุฬาลงกรณ์อย่างมากมาย และเป็นที่เคารพยกย่องและชื่นชมอย่างยิ่งของพวกเราชาวรังสีวิทยา