ศาสตราจารย์ แพทย์หญิง คุณหญิงนิตยา สุวรรณเวลา

ศาสตราจารย์ แพทย์หญิง คุณหญิงนิตยา สุวรรณเวลา (30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2533 – 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2541)

pic26ศาสตราจารย์แพทย์หญิง คุณหญิงนิตยา สุวรรณเวลาสำเร็จการศึกษาแพทยศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยม) จากมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เมื่อปี พ.ศ. 2506 และเป็นแพทย์จุฬาฯ รุ่นที่ 13 รวมถึง หลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูงทางวิทยาศาสตร์การแพทย์คลินิก (สาขารังสีวิทยา) จากมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ เมื่อปี พ.ศ. 2508, Certificate in Neuroradiology จาก The Bowman Gray School of Medicine Wake Forest University, Winston-Salem N.C., USA เมื่อปี พ.ศ. 2514 และได้รับอนุมัติบัตรแสดงความรู้ความชำนาญในการ ประกอบวิชาชีพเวชกรรมสาขารังสีวิทยา (รังสีวิทยาวินิจฉัย) จากแพทยสภา เมื่อปี พ.ศ. 2516 ท่านได้เข้ารับราชการใน มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ในตำแหน่ง อาจารย์โท ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2509 ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยน ต้นสังกัดเป็นคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี พ.ศ. 2510 โดยท่านได้ปฏิบัติราชการด้วยความสามารถ จนกระทั่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นศาสตราจารย์ในปี พ.ศ. 2526

ตลอดระยะเวลาในการปฏิบัติหน้าที่รับราชการ ท่านได้เสียสละแรงกายและแรงใจในการปฏิบัติงานอย่างเต็มที่ อีกทั้งยังเป็นบุคคลผู้มีจิตใจโอบอ้อมอารี มีความรักและเอื้ออาทรต่อผู้ร่วมงาน และเจ้าหน้าที่ทุกระดับในภาควิชาฯ รวมไป จนถึงลูกศิษย์ที่ได้จบการศึกษาไปแล้ว ตลอดจนมีจิตเมตตากรุณาต่อผู้ป่วยที่มารับการตรวจวินิจฉัยโดยเสมอภาคกัน อีกทั้งยังเป็นผู้ที่มีความรับผิดชอบและเสียสละต่อภาควิชาฯเป็นอย่างยิ่ง และยังเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาภาควิชาฯ ให้มีความเจริญก้าวหน้าทันสมัยอยู่ตลอดเวลา นับได้ว่าท่านเป็นบุคคลผู้มีผลงานทั้งทางด้านบริหารและด้านวิชาการ อย่างมากมายโดยท่านได้ดำรงตำแหน่งทางด้านงานบริหาร ดังนี้

  • หัวหน้าสาขารังสีวิทยาวินิจฉัย ภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปี พ.ศ. 2525 – 2529
  • หัวหน้าภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหัวหน้าฝ่ายรังสีวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ในปี พ.ศ. 2533 – 2541
  • อาจารย์ใหญ่โรงเรียนรังสีเทคนิค สภากาชาดไทย ในปี พ.ศ. 2530 – 2534
  • ผู้จัดการโรงเรียนรังสีเทคนิค สภากาชาดไทย ในปี พ.ศ. 2534 – 2541
  • กรรมการคณะกรรมการประจำคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี พ.ศ. 2528 –  2541
  • กรรมการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ในปี พ.ศ. 2533 – 2541

ด้วยความรู้ความสามารถทั้งทางด้านบริหารและวิชาการ ท่านจึงได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอื่นๆ อีกมากมาย ได้แก่

  • International Advisory Board of the International Medical Image Registry Journal,published by Raven Press ในปี พ.ศ. 2537 – ปัจจุบัน
  • ประธานคณะอนุกรรมการฝึกอบรมและสอบความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม สาขารังสีวิทยาวินิจฉัยของแพทยสภา ในปี พ.ศ. 2535 – 2542
  • รองประธานราชวิทยาลัยรังสีแพทย์แห่งประเทศไทยและอุปนายกรังสีวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย   ในปี   พ.ศ. 2538 – 2542
  • ผู้แทนสมาคมใน Asian-Oceanian Society of Neuroradiology and Head & Neck Radiology (AOSNHNR) ในสมาคม World Federation of Neuroradiological Societies  (WFNRS) ในปี พ.ศ. 2538 – 2549
  • นายกสมาคม (President) ของ Asian-Oceanian Society of Neuroradiology and Head &  Neck Radiology (AOSNHNR) ในปี พ.ศ. 2555 – 2557

นอกจากนั้นท่านอาจารย์ยังได้ผลิตผลงานวิจัยตี พิมพ์ทั้งตำราและบทความทางวิชาการทางด้านรังสีวิทยาของ ระบบประสาทและหลอดเลือดไว้อย่างมากมาย โดยได้รับรางวัลผลงานวิจัยดีเยี่ยมสาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ ประจำปี พ.ศ. 2527 ของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติเรื่อง “การวัดกะโหลกศีรษะในภาพรังสีของคนไทย” รวมไปจนถึง ผลงานวิจัย ตำรา และบทความหลายเรื่องที่ได้รับการตีพิมพ์ลงในวารสารทางการแพทย์ทั้งในประเทศ และต่างประเทศที่มี ชื่อเสียงหลายฉบับ

ในระหว่างที่ท่านดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาฯ ท่านได้พัฒนาภาควิชาฯ ทั้งทางด้านบุคลากรและ เครื่องมือ เครื่องใช้ รวมทั้งการบริการทางด้านรังสีวิทยาของภาควิชาฯ และฝ่ายรังสีวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย อย่างมากมาย โดยทางด้านบุคลากร ท่านได้สนับสนุนให้อาจารย์ และเจ้าหน้าที่ไปศึกษาอบรม ดูงานเพิ่มเติมใน ต่างประเทศ ส่วนในด้านเครื่องมือเครื่องใช้ ท่านได้จัดหาอุปกรณ์ที่ทันสมัยมากมาย ได้แก่ เครื่องสร้างภาพด้วย คลื่นสะท้อนในสนามแม่เหล็ก (Magnetic Resonance Imaging) เครื่องตรวจวินิจฉัยหลอดเลือด (Digital Subtraction Angiographic Unit) ส่วนทางด้านการบริการ ท่านได้พัฒนาการให้บริการผู้ป่วยซึ่งเพิ่มจำนวนขึ้น อย่างมาก เพื่อให้การบริการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยใช้วิชาการที่มีความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยี ในการสร้างภาพทางการแพทย์

นอกเหนือไปจากการพัฒนางานดังกล่าวแล้ว ท่านก็ยังเป็นผู้ที่มีอัธยาศัยงดงามและมีความเมตตา กรุณาต่อผู้ใต้ บังคับบัญชาเป็นอย่างมาก ด้วยคุณสมบัติดังกล่าว ท่านจึงได้รับรางวัลบุคลากรดีเด่นประเภทผู้บริหารหน่วยงานของ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เมื่อปี พ.ศ. 2539 และด้วยความรู้ความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่ราชการ ท่านจึงได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมได้รับพระราชทานเครื่อง ราชอิสริยาภรณ์ ดังนี้

  • จัตุรถาภรณ์ช้างเผือก (จ.ช.) พ.ศ. 2515
  • ตริตาภรณ์มงกุฎไทย (ต.ม.) พ.ศ. 2517
  • ตริตาภรณ์ช้างเผือก (ต.ช.) พ.ศ. 2522
  • ทวีติยาภรณ์มงกุฎไทย (ท.ม.) พ.ศ. 2524
  • ทวีติยาภรณ์ช้างเผือก (ท.ช.) พ.ศ. 2527
  • ประถมภรณ์มงกุฎไทย (ป.ม.) พ.ศ. 2530
  • ประถมภรณ์ช้างเผือก (ป.ช.) พ.ศ. 2533
  • มหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.) พ.ศ. 2536
  • มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.) พ.ศ. 2541

นอกเหนือจากงานทางด้านบริหาร วิชาการ งานวิจัย และการบริการผู้ป่วยแล้ว ท่านยังมีโอกาสได้รับใช้ใต้เบื้อง พระยุคลบาทตลอดจน พระบรมวงศานุวงศ์ จนกระทั่งได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าชั้นจตุตถ จุลจอมเกล้า (จ.จ.) ในปี พ.ศ. 2541 และได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าชั้นตติยจุลจอมเกล้า (ต.จ.) ในปี พ.ศ. 2544 ต่อมาท่านได้รับพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยาในปี พ.ศ. 2556

ศาสตราจารย์ แพทย์หญิง คุณหญิงนิตยา สุวรรณเวลา นับเป็นผู้ที่มีบุคลิกงดงาม เป็นที่ชื่นชมของบุคลากร รอบด้าน จนกล่าวได้ว่าท่านเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณค่าอย่างยิ่ง ด้วยความรู้ความสามารถของท่านที่มีอยู่อย่าง มากมาย ท่านเป็นครูที่ศิษย์ระลึกได้เสมอในความเมตตาและความตั้งใจจริง ในการถ่ายทอดความรู้ทางวิชาการ และถึงแม้ว่าท่านจะครบวาระเกษียณอายุราชการแล้ว แต่ท่านก็ยังคงมีความตั้งใจที่จะช่วยถ่ายทอดและให้ คำปรึกษาทางด้านวิชาการแก่ศิษย์ต่อไป