รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงสุกัลยา เลิศล้ำ

รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงสุกัลยา เลิศล้ำ (1 ตุลาคม พ.ศ. 2556 – ปัจจุบัน)

pic30รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงสุกัลยา เลิศล้ำ สำเร็จการศึกษาแพทยศาสตรบัณฑิตจากจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัยเมื่อปี พ.ศ. 2522 หลังจากนั้นท่านก็ได้รับวุฒิบัตรแสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพ เวชกรรม สาขารังสีวิทยาทั่วไป (โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย) แพทยสภาเมื่อปี พ.ศ. 2528 และ Master of Science in Clinical Epidemiology จากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเมื่อปี พ.ศ. 2546 และได้หนังสือ อนุมัติบัตรเป็นผู้มีความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม อนุสาขาภาพวินิจฉัยระบบประสาท เมื่อปี พ.ศ. 2547

รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงสุกัลยา เลิศล้ำ ได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการสังกัดคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2531 ซึ่งท่านเป็นผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญทางด้านประสาท รังสีวิทยาวินิจฉัยและยังเป็นบุคคลที่ทุ่มเทให้กับงานทางด้านประสาทรังสี วิทยาวินิจฉัยเป็นอย่างมาก แม้ว่าในช่วง ระยะแรกของการทำงานทางด้านนี้จะมีรังสีแพทย์ที่จบทางด้านนี้เป็นจำนวนน้อย หากแต่ปริมาณของผู้ป่วยที่มารับ การตรวจวินิจฉัยกลับมีจำนวนมาก แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ท่านก็ไม่เคยย่อท้อต่อการทำงานทางด้านนี้เลยแม้แต่น้อย ซึ่งในช่วงเริ่มต้นของการทำงาน ท่านก็ไม่ได้ทำงานทางด้านประสาทรังสีวิทยาวินิจฉัยแต่เพียงอย่างเดียวเท่า นั้น แต่ท่านยังมีความรู้ความสามารถทางด้านรังสีวินิจฉัยในระบบอื่นๆโดยภาพที่เรา มักจะเห็นจนชินตานั่นก็คือท่านจะมา ทำงานตั้งแต่เช้าเพื่อที่จะมาดูแลงานบริการที่ท่านรับผิดชอบและเข้าร่วม ประชุมกิจกรรมการเรียนการสอนของแพทย์ ประจำบ้าน และถึงแม้จะไม่ใช่เป็นระบบทางด้านประสาทรังสีวิทยาวินิจฉัยก็ตามแต่ท่านก็ ได้สั่งสอนศิษย์ด้วยความรู้ของ ท่านอย่างเต็มความสามารถ และด้วยปริมาณงานที่มาก จึงไม่แปลกที่เรามักจะเห็นท่านเข้ามาทำงานในวันหยุด สุดสัปดาห์เป็นประจำ นอกจากนี้ท่านยังได้เอาใจใส่และอบรมให้ศิษย์ดูแลผู้ป่วยที่มารับการตรวจทาง รังสีวิทยาวินิจฉัย ไม่ใช่ดูผู้ป่วยจากฟิล์มเอกซเรย์เพียงอย่างเดียว ในเวลาต่อมา เมื่อลักษณะของงานเริ่มแบ่งเป็นระบบที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ทำให้ท่านสามารถที่จะทำงานทางด้านประสาทรังสีวิทยาวินิจฉัยได้อย่างเต็มที่ ประกอบกับเริ่มมีอาจารย์บรรจุเข้ามาช่วยทำงานทางด้านประสาทรังสีวิทยา วินิจฉัยเพิ่มขึ้นในระดับหนึ่ง แต่อย่างไรก็ตาม ความรู้ทางด้านประสาทรังสีวิทยาวินิจฉัย ก็มีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วเป็นอย่างมากและมีการแบ่งเป็นหน่วยย่อยมากมาย กิจกรรมการเรียนการสอนทางด้าน ประสาทรังสีวิทยาวินิจฉัยจึงเกิดขึ้นมากมาย แต่ด้วยความเป็นครูที่รักและมีความสุขในการสอนศิษย์และมีทีมอาจารย์ ทางด้านประสาทรังสีวิทยาวินิจฉัยที่ดี ทำให้ท่านทำงานได้อย่างไม่ย่อท้อ จนกระทั่งได้รับความชื่นชมทางด้าน การเรียนการสอน และเป็นบุคคลที่รักของนิสิตแพทย์ แพทย์ประจำบ้าน แพทย์ประจำบ้านต่อยอด แพทย์ elective จากโรงเรียนแพทย์ต่างสถาบันหรือที่อื่นๆ อาจารย์แพทย์จากประสาทอายุรศาสตร์ศัลยกรรมประสาท จักษุวิทยา หู คอ จมูก จนอาจกล่าวได้ว่าท่านเป็นที่พึ่งพาและที่ปรึกษาของทั้งอาจารย์รุ่นหลังๆ ศิษย์ปัจจุบัน ศิษย์เก่า และท่านยังนับเป็น แบบอย่างที่ดีของการไม่หยุดนิ่งในการแสวงหาความรู้ใหม่ๆ อยู่เสมอและนำมาปรับใช้เพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้ป่วย ทั้งหมดนี้ทำให้ท่านได้รับรางวัลยกย่องเชิดชูเกียรติอาจารย์ด้านการเรียน การสอน รางวัล “อาจาริยมิตต์”จาก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประจำปี พ.ศ. 2552 นอกจากนี้ท่านก็ยังมีผลงานทางด้านวิชาการ ด้านงานวิจัย ทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ จนกระทั่งท่านได้รับตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์เมื่อปี พ.ศ. 2534 และรองศาสตราจารย์เมื่อปี พ.ศ. 2549 และด้วยความที่ท่านเป็นที่ยอมรับในความรู้ ความสามารถ ท่านจึงมักจะถูก รับเชิญให้เป็นอาจารย์ทั้งในคณะอื่นๆ ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยอื่นๆรวมถึงการเป็นวิทยากร ในการประชุมวิชาการทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ

นอกเหนือจากงานทางด้านการเรียนการสอนและการวิจัยแล้ว ท่านก็ยังดำรงตำแหน่งต่างๆดังต่อไปนี้

  • อาจารย์ใหญ่ โรงเรียนรังสีเทคนิค โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย พ.ศ. 2538 -2555
  • หัวหน้าสาขารังสีวิทยาวินิจฉัย พ.ศ. 2544 -2548
  • ประธานหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตชั้นสูง ทางวิทยาศาสตร์การแพทย์คลินิก สาขารังสีวิทยา                 คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2548 – 2556
  • กรรมการบริหารในคณะกรรมการบริหาร คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • กรรมการบริหารภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • ประธานคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญบัญชียาหลักแห่งชาติ สาขารังสีวิทยาวินิจฉัย กระทรวงสาธารณสุข               พ.ศ. 2556 – ปัจจุบัน
  • กรรมการฝึกอบรมและสอบความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรมสาขารังสีวิทยาทั่วไป
  • กรรมการฝึกอบรมและสอบความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม สาขารังสีวิทยาวินิจฉัย
  • กรรมการฝึกอบรมและสอบความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม อนุสาขาภาพวินิจฉัย           ระบบประสาท
  • กรรมการรับผิดชอบโครงการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านต่อยอดเฉพาะทางสาขา Neuroradiology    หลักสูตร 1 ปี ของฝ่ายรังสีวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
  • กรรมการอำนวยการราชวิทยาลัยรังสีแพทย์และรังสีวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2556  ปัจจุบัน
  • กรรมการมูลนิธิเทียนส่องใจเพื่อคนไข้โรคลมชัก พ.ศ. 2542 – ปัจจุบัน

รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงสุกัลยา เลิศล้ำนับเป็นอาจารย์ที่ทุ่มเทการทำงานให้กับคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย อย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยและยังเป็นอาจารย์ที่ เอาใจใส่ผู้ป่วยที่เข้ามารับการตรวจวินิจฉัยทางรังสีวิทยาและเป็นอาจารย์ที่ เอาใจใส่ต่อศิษย์ทุกคน ท่านจึงเป็นแบบอย่าง ที่ดีที่ทำให้รังสีแพทย์ยึดถือและจะเจริญรอยตามแบบอย่างที่ดีเช่นนี้สืบไป