ประวัติหัวหน้าภาควิชา/ฝ่ายรังสีวิทยา
ศาสตราจารย์ แพทย์หญิง คุณตวัน สุรวงศ์ บุนนาค (พ.ศ. 2490 – 25 มีนาคม พ.ศ. 2512)
ศาสตราจารย์ แพทย์หญิง คุณตวัน สุรวงศ์ บุนนาค หรือ “อาจารย์หมอใหญ่” ของผู้ที่คุ้นเคยและบรรดาศิษย์ นับเป็นอาจารย์รุ่นแรกของพวกเรานับตั้งแต่ที่มีการก่อตั้งคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ซึ่งในสมัยแรกอยู่ ในสังกัดของมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ และต่อมาได้เปลี่ยนเป็นคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยท่าน เป็นผู้หนึ่งที่ริเริ่มในการวางรากฐานและพัฒนาวิชารังสีวิทยาในประเทศไทยจนกระทั่งมีความเจริญก้าวหน้ามาถึงปัจจุบัน
ศาสตราจารย์ แพทย์หญิง คุณตวัน สุรวงศ์ บุนนาค เป็นธิดาคนใหญ่ของพลตรี พระยาสุรวงศ์ วิวัฒน์ (เตี้ยม บุนนาค) ท.จ.ว., ม.ว.ม., ป.ช. สมุหพระราชมณเฑียร กับหม่อมหลวงวงศ์ สุรวงศ์ วิวัฒน์ ต.จ. (ราชสกุลฉัตรกุล) เกิดเมื่อ วันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2451 ท่านสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมปีที่ 8 จากโรงเรียนเซนต์โยเซฟ คอนเวนต์ ต่อมาได้รับ พระราชทานทุนส่วนพระองค์ของสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เพื่อเดินทางไปศึกษาวิชาแพทย์ ณ University of the Philippines และได้รับปริญญาแพทยศาสตรบัณฑิต ในปี พ.ศ. 2479 หลังจากนั้นท่านได้กลับมาเป็นแพทย์ประจำ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย โดยปฏิบัติงานในตำแหน่งศัลยแพทย์ จนกระทั่งในระหว่าง ปี พ.ศ. 2481 – พ.ศ. 2482 ท่านก็ได้รับทุน Alexander von Humboldt เพื่อเดินทางไปศึกษาวิชารังสีวิทยากับ Professor Werner Knothe และ Professor Frik ณ เมืองเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี เมื่อท่านเดินทางกลับมาประเทศไทยจึงได้ปฏิบัติงาน ในตำแหน่งรังสีแพทย์ประจำโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
ในส่วนของงานทางด้านรังสีวิทยาในระยะแรกๆ ก่อนหน้านั้น โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ได้เชิญ ศาสตราจารย์ หลวงพิณพากย์พิทยาเภท ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญ “แพทย์ผู้ตรวจทางแสงรัศมี” มาเป็นที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ และเรียก หน่วยงานนี้ว่า “หมวดแสงรัศมี” ซึ่งในขณะนั้นมี เครื่องถ่ายภาพรังสี เพื่อการวินิจฉัยโรคโดยเป็นเครื่องขนาดเล็ก ต่อมาในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ปี พ.ศ. 2484 หน่วยแพทย์ของกองทัพ ญี่ปุ่นได้เข้ามาใช้โรงพยาบาลของ สภากาชาดไทย และใช้เครื่องเอกซเรย์ของ “หมวดแสงรัศมี” ในการตรวจวินิจฉัยผู้ป่วย ต่อมาเมื่อหน่วยแพทย์ของ กองทัพอังกฤษและอินเดียเข้ามาแทนที่ในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ จึงได้มีเครื่องเอกซเรย์ซึ่งใช้ช่วยในการสืบสวนกรณี สวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ในปี พ.ศ. 2489
เมื่อมีการก่อตั้งคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ในปี พ.ศ. 2490 ท่านก็ได้มาเป็นอาจารย์ทำการสอนนักศึกษาแพทย์ตั้งแต่รุ่นแรก โดยได้เปลี่ยนชื่อหน่วยงานเป็น “แผนกรังสีวิทยา” ในปี พ.ศ. 2495 ศาสตราจารย์แพทย์หญิง คุณตวัน สุรวงศ์ บุนนาค ได้รับทุนขององค์การ MSA (Mutual Security Agency) เพื่อเดินทางไปศึกษาและปฏิบัติงานที่โรงพยาบาล Dellevue เมืองนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นระยะเวลา 1 ปี ซึ่งท่านสอบได้ประกาศนียบัตรเป็นผู้เชี่ยวชาญทางรังสีวิทยา (Diplomate of the American Board of Radiology) และเป็นสมาชิกของ The American College of Radiology เมื่อท่านเดินทางกลับมาประเทศไทย โดยความร่วมมือจาก องค์การ MSA แผนกรังสีวิทยา จึงได้มีเครื่องมือที่ได้มาตรฐานสำหรับการตรวจทางรังสีวิทยาคือ เครื่อง General Electric Maxicon 300 และท่านเป็นคนแรกที่ได้นำวิธีการตรวจทางระบบทางเดินอาหารโดยการทำ Fluoroscopy และการถ่ายภาพรังสีด้วย Spot film มาใช้ในประเทศไทย พร้อมๆ กับวิธีการตรวจถุงน้ำดีโดยใช้สารทึบแสง ในปี พ.ศ. 2503 ท่านได้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าแผนกรังสีวิทยาสืบต่อจากศาสตราจารย์ หลวงพิณพากย์พิทยาเภท และในปี พ.ศ. 2508 ท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นศาสตราจารย์ในวิชารังสีวิทยา และปฏิบัติงานตลอดมาจวบจนกระทั่งเกษียณอายุ ราชการในปี พ.ศ. 2511
ศาสตราจารย์ แพทย์หญิง คุณตวัน สุรวงศ์ บุนนาค นับได้ว่าเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถอย่างมากในทาง วิชาการ ประกอบกับเป็นผู้ที่มีวิสัยทัศน์อันกว้างไกลและมีความคิดก้าวหน้า ท่านจึงได้จัดเตรียมบุคลากรที่จะมาดำเนิน งานเป็นรังสีแพทย์และอาจารย์ผู้สอนเฉพาะทางรังสีวิทยาสาขาต่างๆ โดยท่านได้ให้การสนับสนุน แนะนำ เพื่อให้บุคลากร
เหล่านั้นมีโอกาสศึกษา ฝึกอบรม และดูงานในสถานที่ที่เหมาะสม อีกทั้งยังได้จัดหาผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศเพื่อให้มา เป็นที่ปรึกษาและช่วยกิจการบางอย่าง ทำให้มีการขยายอัตรากำลังของบุคลากร ด้านรังสีแพทย์และเจ้าหน้าที่ระดับต่างๆ ของแผนกรังสีวิทยา ซึ่งทำให้สามารถปฏิบัติงานในด้านต่างๆได้ทุกสาขาวิชา สำหรับในด้านเครื่องมือ วัสดุ และอุปกรณ์ ทางรังสีวิทยา ก็สามารถดำเนินงานอยู่ได้ด้วยตัวเอง ทั้งยังได้พยายามจัดหาเครื่องมือจากภายในและภายนอกประเทศ รวมทั้งการระดมเงินทุนจากผู้มีจิตศรัทธาที่นำมาบริจาค เพื่อใช้ในการขยายงานทั้งในด้านเครื่องมือและอาคารสถานที่ ออกไปอย่างกว้างขวาง เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและมีความทันสมัยมากยิ่งขึ้น และแม้ว่าบางครั้งท่านจะต้องเผชิญกับ อุปสรรคต่างๆ มากมาย แต่ท่านก็มิได้ท้อถอยแต่อย่างใด ดังเช่นในขณะที่ยังไม่มีเครื่องเปลี่ยนฟิล์มอัตโนมัติ สำหรับการ ตรวจทางรังสีของระบบหลอดเลือดและประสาทรังสีวิทยา (Vascular Radiology และ Neuroradiology) ท่านก็ได้ ดัดแปลงใช้เครื่องมือที่ทำในประเทศอย่างง่ายๆ โดยการใช้พนักงานดึงฟิล์มออกทีละแผ่นเพื่อให้ได้จังหวะกับการถ่ายภาพ เอกซเรย์ ด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงทำให้แผนกรังสีวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์กลายเป็นสถาบันชั้นนำของประเทศใน ด้านการทำการตรวจพิเศษต่างๆ ทางรังสีวิทยาและมีเครื่องมือเครื่องใช้ที่ทันสมัยซึ่งได้เริ่มใช้เป็นครั้งแรกในประเทศไทย หลายอย่าง ซึ่งนอกเหนือไปจาก Fluoroscopy และ Spot film แล้วก็ยังมี Tomography เครื่องเปลี่ยนฟิล์มเร็วอัตโนมัติ และเครื่องล้างฟิล์มอัตโนมัติ ตลอดจนการใช้ Image intensifier กับโทรทัศน์ และ Video recorder สำหรับผลงานที่ ท่านได้เริ่มทำและมีส่วนสนับสนุนให้เกิดขึ้นในทางรังสีวิทยาวินิจฉัย ได้แก่
ท่านได้มีการประสานความร่วมมือกับแพทย์และอาจารย์จากแผนกอื่นๆ เป็นอย่างดียิ่งซึ่งผลงานหลายอย่าง ก็เป็นผลงานร่วมกันกับแผนกอื่นๆ เช่น ศัลยศาสตร์ เป็นต้น
สำหรับงานทางด้านรังสีรักษาในระยะแรก ท่านได้เริ่มงานด้านนี้โดยการใช้แร่เรเดียมและ Orthovoltage External radiation ต่อมาในปี พ.ศ. 2502 ก็ได้รับบริจาคเครื่อง Cobalt จากสภากาชาดและสภาเสี้ยววงเดือนแดงของ สหภาพสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียต ทำให้แผนกรังสีวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เป็นสถาบันแห่งแรกในประเทศไทย ที่ได้ให้การรักษาด้วย Cobalt Teletherapy และในปี พ.ศ. 2508 ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลประเทศแคนาดา ซึ่งได้ มอบเครื่อง Cobalt Teletherapy “Theratron 80” ให้เพื่อใช้ในการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็ง
สำหรับงานทางด้านบุคลากร ท่านได้ให้การสนับสนุนอาจารย์หลายท่านในการเดินทางไปศึกษาวิชารังสีรักษา ณ ต่างประเทศ และกลับมาขยายงาน ทางด้านรังสีรักษาให้เจริญมากยิ่งขึ้นจวบจนถึงปัจจุบัน
ในปี พ.ศ. 2502 ท่านได้เป็นผู้ริเริ่มจัดตั้งหน่วยไอโซโทปส์ขึ้น โดยได้รับความช่วยเหลือจากองค์การ International Atomic Energy Agency (IAEA) ซึ่งได้จัดส่งผู้เชี่ยวชาญมาช่วยให้คำแนะนำ เครื่องมือ ที่ใช้ในระยะแรก โดยเป็นเครื่องมือที่ได้จากการบริจาค ทั้งนี้งานในระยะแรกได้แก่ งานด้าน Thyroid gland ทั้งการ วินิจฉัยและรักษาโรค การใช้สารกัมมันตรังสีฟอสฟอรัสแยกระหว่าง malignant และ benign effusions การหา extracellular fluid และการรักษาโรคมะเร็งด้วยสารกัมมันตรังสี เป็นต้น ในระยะต่อมาก็ได้มีการขยายงานทั้งเครื่องมือ
สถานที่และบุคลากรเพิ่มมากขึ้น และได้มีการริเริ่มงาน Radioimmunoassay ในปี พ.ศ. 2511 ผลจากการดำริและ จัดตั้งหน่วยนี้ของศาสตราจารย์ แพทย์หญิงคุณตวัน สุรวงศ์ บุนนาค ได้ทำให้งานทางด้านเวชศาสตร์นิวเคลียร์ของ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์อยู่ในระดับมาตรฐานของโลกและมีความเจริญรุ่งเรืองรุดหน้าอยู่ในระดับผู้นำในปัจจุบัน
ในปี พ.ศ. 2508 ท่านได้เริ่มงานใหม่ทางด้าน Radiation physics โดยได้รับความร่วมมือจากองค์การ International Atomic Energy Agency (IAEA) ซึ่งได้จัดส่งผู้เชี่ยวชาญมาให้ความรู้และฝึกอบรมแก่แพทย์และ นักฟิสิกส์ในการใช้รังสีบำบัดโรคมะเร็ง ซึ่งนับว่าเป็นความก้าวหน้าที่สำคัญอย่างยิ่ง
ตลอดระยะเวลาที่ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงคุณตวัน สุรวงศ์ บุนนาค ได้บริหารงานของแผนกฯ ท่านเป็น ผู้ที่มีความตั้งใจ ความรัก เอาใจใส่ และมีความเมตตากรุณาต่อผู้ใต้บังคับบัญชา อีกทั้งยังให้ความช่วยเหลือและแนะนำ ด้วยดีมาโดยตลอด ทำให้ท่านเป็นที่รักใคร่ของผู้ที่ได้มีโอกาสปฏิบัติงานร่วมกับท่านทุกคน
ในด้านการเรียนการสอน ศาสตราจารย์แพทย์หญิงคุณตวัน สุรวงศ์ บุนนาค นับได้ว่าเป็นผู้ที่มีความรู้และ ความสามารถอันยอดเยี่ยม ยิ่งไปกว่านั้นท่านยังเป็นอาจารย์ที่มีความรักเอื้อเอ็นดูต่อศิษย์ด้วยการให้ความรู้และสั่งสอน อบรมทั้งในด้านคุณธรรม จริยธรรม และความรู้วิชารังสีวิทยาแก่ศิษย์จำนวนมาก อันได้แก่นิสิตแพทย์ตั้งแต่รุ่นแรก ตราบจนท่านเกษียณอายุราชการ แพทย์ประจำบ้านรังสีวิทยา แพทย์ประจำบ้าน และแพทย์สาขาอื่นๆ รวมทั้งนักศึกษา คณะสัตวแพทยศาสตร์ คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ นักศึกษาวิทยาลัยพยาบาล สภากาชาดไทย และเจ้าหน้าที่รังสีเทคนิค ซึ่งท่านได้ถ่ายทอดวิชาความรู้อย่างละเอียดลึกซึ้งอันเป็นประโยชน์แก่ศิษย์ทั้งหลายเป็นอย่างยิ่ง นอกจากนั้นท่านยังได้จัดวางหลักสูตรการเรียนการสอน ทั้งในระดับก่อนและหลังปริญญาเป็นที่ปรึกษาของแพทย์ในสาขา ต่างๆ เมื่อมีปัญหาได้จัดการประชุมร่วมกับแผนกต่างๆ เช่น Surgico – Radiology Conferenceซึ่งเป็นการประชุมที่มี ผู้สนใจและมาร่วมประชุมเป็นจำนวนมาก
นอกจากงานดังกล่าวข้างต้นแล้ว ท่านก็ยังมีงานทางด้านวิชาการโดยเป็นนักวิจัยหลักและผู้วิจัยร่วมอีกทั้งยัง ได้ให้การสนับสนุนให้ผู้ใต้บังคับบัญชามีความสนใจทำการค้นคว้าและทำการวิจัย ดังจะเห็นได้จากผลงานวิจัยที่ปรากฏ จากแผนกรังสีวิทยา ซึ่งในระยะที่ท่านเป็นหัวหน้าแผนกฯ มีเกือบ 100 เรื่องที่ได้ลงพิมพ์ในวารสารทั้งไทยและต่างประเทศ สำหรับตัวอย่างผลงานวิจัยสำคัญๆ ของท่านที่ได้ลงพิมพ์ในวารสารต่างๆ อาทิ
นอกจากนี้ท่านยังได้เข้าร่วมในการประชุมวิชาการทางรังสีวิทยาทั้งในและต่างประเทศ พร้อมทั้งเสนอบทความ ทางวิชาการหลายครั้งและยังได้เดินทางไปดูงานทางรังสีวิทยาเป็นระยะๆ เพื่อนำเอาความรู้ที่ได้รับมาใช้ในงาน เพื่อความ ก้าวหน้าและการพัฒนาทางวิชาการอย่างสม่ำเสมอ
ศาสตราจารย์ แพทย์หญิง คุณตวัน สุรวงศ์ บุนนาค ได้ปฏิบัติงานที่สำคัญอื่นๆ อีกหลายด้าน เช่น ท่านเป็นผู้หนึ่ง ที่ได้เริ่มก่อตั้งรังสีวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทยในปี พ.ศ. 2505 และทำงานให้กับรังสีวิทยาสมาคมตลอดมา โดยเป็น ประธานแผนกวิชาการในปี พ.ศ. 2506 บรรณาธิการรังสีวิทยาสารระหว่างปี พ.ศ. 2506 – 2511 และเป็นอุปนายก รังสีวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย ในปี พ.ศ.2512
นอกจากนี้ท่านยังได้รับเชิญเป็นที่ปรึกษาขององค์การอนามัยโลกในด้าน Medical Radiation Physics ระหว่างปี พ.ศ. 2510 – 2520 รวมถึงการได้ปฏิบัติงานเพื่อสาธารณประโยชน์อีกมากมาย เช่น ดำรงตำแหน่งรอง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ในช่วงระหว่าง ปี พ.ศ. 2503 – 2512 ดำรงตำแหน่งกรรมการ เจ้าหน้าที่สภากาชาดไทย ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกองบรรเทาทุกข์และอนามัย สภากาชาดไทย ในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2511 – 2523 รวมถึงเมื่อคราวที่สันนิบาตสภากาชาดไทยได้จัด “Asian Red Cross Institute on Community Welfare Work” ขึ้นในประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2516 ท่านก็ได้มีบทบาทเป็น Co – Director คนหนึ่ง นอกจากนั้น ท่านยังได้มีการจัดตั้งหน่วยเอกซเรย์ที่สถานพักฟื้นสวางคนิวาส สภากาชาดไทย เมือ่ ปี พ.ศ. 2507 และที่สถานีกาชาด หัวหิน ท่านได้เป็นผู้แทนสภากาชาดไทยเดินทางไปร่วมประชุม ณ ต่างประเทศหลายครั้ง และยังเป็นผู้ประสานงานกับ ก.ร.ป. กลาง ในการจัดตั้งหน่วยเอกซเรย์เคลื่อนที่เพื่อการพัฒนาชนบท ในปี พ.ศ. 2510 และช่วยในโครงการพัฒนา เครื่องถ่ายเอกซเรย์เคลื่อนที่สำหรับใช้ในชนบทขององค์การอนามัยโลกในปี พ.ศ. 2510 เป็นต้น
ด้วยความเฉลียวฉลาดประกอบกับความรู้ ความสามารถและความชำนาญพิเศษทางรังสีวิทยา ดังผลงานที่ ปรากฏ ท่านได้นำชื่อเสียงมาสู่คณะและมหาวิทยาลัย จากความเป็นผู้ที่เปี่ยมไปด้วยคุณธรรมและจริยธรรม ทำให้ ศาสตราจารย์แพทย์หญิง คุณตวัน สุรวงศ์ บุนนาค เป็นที่รักและเคารพอย่างสูงสำหรับบรรดาศิษย์ ในส่วนผู้ที่ได้รู้จัก ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศก็ได้ให้ความรักและยกย่องนับถือ และในปี พ.ศ. 2503 ท่านก็ได้รับพระราชทานปริญญา แพทยศาสตรดุษฎีบัณฑิตของมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ แม้เมื่อท่านเกษียณอายุราชการแล้วท่านก็ยังคงให้ความ ช่วยเหลือเป็นที่ปรึกษางานทางด้านรังสีวิทยาและได้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์กิตติคุณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปี พ.ศ. 2524
สำหรับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ท่านได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ทุติยจุลจอมเกล้า เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2521 และทวีติยาภรณ์ช้างเผือก เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2523 นับเป็นเกียรติประวัติอย่างสูง ในชีวิตของท่าน
ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงพิศมัย อร่ามศรี (26 มีนาคม พ.ศ. 2512 – 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2522)
ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงพิศมัย อร่ามศรี หรือ “อาจารย์หมอเล็ก” ได้รับปริญญาแพทยศาสตรบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาลเมื่อปี พ.ศ. 2493 และได้รับการบรรจุเป็นอาจารย์ในแผนกรังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ในช่วงปี พ.ศ. 2495 ท่านได้เดินทางไปศึกษา เพิ่มเติมและได้รับ Diploma of American Board of Radiology เมื่อปี พ.ศ. 2500 ท่านยังได้รับทุนไปดูงานทำการ
วิจัยและเข้าร่วมประชุมทางวิชาการทางด้านรังสีรักษา ณ ต่างประเทศ ทั้งในยุโรป สหรัฐอเมริกา และเอเชีย ซึ่งนั่นก็ยิ่ง ทำให้หน่วยรังสีรักษาเป็นที่รู้จักและนิยมในกลุ่มของผู้เชี่ยวชาญงานด้านรังสีรักษาในระดับนานาชาติมากยิ่งขึ้น
ศาสตราจารย์แพทย์หญิงพิศมัย อร่ามศรี ได้ดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าภาควิชารังสีวิทยาเป็นระยะเวลานานถึง 9 ปี และได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นศาสตราจารย์ในสาขาวิชารังสีวิทยาในปี พ.ศ. 2524 นอกจากนั้นท่านยังได้ รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์มหาวชิรมงกุฎในปี พ.ศ. 2527 และ เกษียณอายุราชการในปี พ.ศ. 2530
ในช่วง ระหว่างรับราชการ ศาสตราจารย์ แพทย์หญิง พิศมัย อร่ามศรีได้นำเครื่องฉายรังสีโคบอลต์มาใช้ใน การรักษาโรคมะเร็งเป็นแห่งแรกในประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. 2502 โดยได้รับบริจาคเครื่องมือจากสภากาชาดและ สภาเสี้ยววงเดือนแดงของสหภาพสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียต ต่อมาในปี พ.ศ. 2507 ท่านได้นำเครื่องฉายรังสี โคบอลต์รุ่นใหม่ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ ทันสมัยยิ่งขึ้นมาใช้ โดยได้รับบริจาคมาจากรัฐบาลประเทศแคนาดา ในระยะต่อมา เมื่อสารกัมมันตรังสีโคบอลต์ของ สหภาพสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตสลายตัว จนกระทั่งความแรงของต้นกำเนิด รังสีมาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องฉายรังสีโคบอลต์ มาให้ใหม่
ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงพิศมัย อร่ามศรี นับได้ว่าเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการวางระบบการป้องกันอันตราย จากรังสี โดยท่านเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งสมาคมรังสีรักษาในปี พ.ศ. 2529 และดำรงตำแหน่งนายกสมาคมรังสีรักษาเป็นคนแรก ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งสมาคมฯ
ตลอดระยะเวลาที่รับราชการ ศาสตราจารย์แพทย์หญิงพิศมัย อร่ามศรี ได้อุทิศตนเพื่อการพัฒนาความก้าวหน้า ทางวิชาการ ตลอดจนถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์แก่แพทย์รุ่นหลังและนิสิตแพทย์อย่างสม่ำเสมอตลอดมา และเมื่อเกษียณอายุราชการแล้ว ท่านก็ยังเป็นที่ปรึกษาในด้านรังสีรักษาตลอดมา
รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ศีลวัต อรรถจินดา (1 สิงหาคม พ.ศ. 2522 – 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2525)
รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ศีลวัต อรรถจินดา ผู้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหัวหน้าแผนกรังสีวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2522 – 252 ท่านอาจารย์ศีลวัตเป็นคนกรุงเทพมหานครโดยกำเนิด เกิดเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2473 โดยหลังจากที่ ท่านสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นจากโรงเรียนอำนวยศิลป์ ธนบุรีและสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษา ตอนปลายจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาเรียบร้อยแล้ว ท่านก็ได้เข้ามาเป็นนิสิตแพทย์จุฬาฯ และจบการศึกษารุ่นที่ 5 โดยได้รับปริญญาแพทยศาสตรบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ในปี พ.ศ. 2497 หลังจากนั้นท่านจึงได้เดินทาง ไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อฝึกอบรมเป็นแพทย์ประจำบ้านสาขารังสีวิทยาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2501 – 2505 โดยได้เข้า รับการฝึกอบรมใน 3 โรงพยาบาล ได้แก่ Newton Wellesley Hospital, Newton Lower Falls มลรัฐแมสซาชูเซตส์ Cook County Hospital, Chicago มลรัฐอิลลินอยส์ และ Hartford Hospital เมืองฮาร์ตฟอร์ด มลรัฐคอนเนตทิคัต จนสามารถสอบได้เป็นผู้เชี่ยวชาญแขนงวิชารังสีวิทยา ประเทศสหรัฐอเมริกา (Diploma of American Board of Radiology) หลังจากนั้นท่านจึงได้เดินทางกลับมาประเทศไทยและรับราชการเป็นอาจารย์ประจำในแผนกรังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ในปี พ.ศ. 2506 หลังจากที่ท่านได้ผ่านการ ฝึกงานในด้านการสอนอีก 1 ปีในตำแหน่ง Clinical Instructor in Radiology ที่ Yale University Medical Center, New Heaven มลรัฐคอนเนตทิคัต ประเทศสหรัฐอเมริกา
ท่านอาจารย์ศีลวัตถือได้ว่าเป็นผู้ที่มีความมุ่งมั่นในด้านการพัฒนาวิชาการ พิสูจน์ได้จากผลงานทุกชิ้นที่อาจารย์ ลงมือทำจะต้องเป็นผลงานที่มีคุณภาพ อีกทั้งท่านอาจารย์ยังเป็นผู้ที่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ เป็นคนคิดเร็ว ตัดสินใจ และลงมือทำเร็ว แต่เมื่อได้ลงมือทำแล้วก็จะปรับจังหวะการทำงานให้ช้าลงด้วยความประณีต นอกจากนั้นท่านอาจารย์ ยังเป็นผู้มีศิลปะในการถ่ายภาพมากเป็นพิเศษ ซึ่งนับเป็นคุณสมบัติที่ดีของรังสีแพทย์วิทยาวินิจฉัยประกอบกับความรู้ ที่ดีมากทางด้านรังสีฟิสิกส์ทำให้ท่านอาจารย์เป็นที่เลื่องลือในด้านความสามารถในการตรวจทางเดินอาหารและการตรวจหลอดเลือดโดยใช้เครื่องเอกซเรย์ฟลูออโรสโคป ซึ่งสามารถผลิตภาพวินิจฉัยได้สวยงามเป็นเลิศ ทำให้สามารถแปลผล การวินิจฉัยได้ถูกต้องและแม่นยำมาก เป็นที่ชื่นชมของแพทย์ผู้รักษาผู้ป่วยและเป็นแบบอย่างของศิษย์และเพื่อน ร่วมงานมาโดยตลอด
ในด้านหนึ่งของการทำงาน ท่านอาจารย์จะไม่รั้งรอในการสอนสิ่งที่ถูกต้องทั้งในด้านวิชาการและจริยธรรม แม้ว่าโดยบุคลิกของท่านอาจารย์จะเป็นคนพูดจาเสียงดัง แต่นั่นก็เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดการจดจำเพื่อไม่ให้เกิดการ ผิดพลาดอีกซึ่งถือเป็นสิ่งที่สำคัญมากโดยเฉพาะสำหรับงานที่ต้องมีผู้ป่วยเกี่ยวข้องด้วยงานคุณภาพ นอกจากนั้นผลงาน ทางด้านวิชาการและงานวิจัยของอาจารย์ยังได้รับการตีพิมพ์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะผลงานทางด้าน การตรวจวินิจฉัยโรคหัวใจและหลอดเลือดด้วยภาพวินิจฉัย ตลอดระยะเวลาที่ท่านอาจารย์เป็นอาจารย์อยู่ในแผนก รังสีวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นสังกัด ภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2510 เป็นต้นมา
คงไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่า ท่านอาจารย์เป็นผู้หนึ่งที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาทางวิชาการอย่างยิ่ง ดังจะเห็นได้จากการที่ ท่านอาจารย์ได้อุทิศเวลาเป็นบรรณาธิการและอยู่ในกองบรรณาธิการของวารสารทางการแพทย์ ในอดีตหลายฉบับใน ประเทศไทย เช่น รังสีวิทยาสาร จุฬาลงกรณ์เวชสาร จดหมายเหตุทางการแพทย์ เป็นต้น
ระหว่างที่ท่านอาจารย์ดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหัวหน้าแผนกรังสีวิทยา (ปัจจุบันเป็นฝ่ายรังสีวิทยา) โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทยนั้นท่านก็ได้แสดงให้ เห็นถึงความเป็นผู้ที่มีวิสัยทัศน์สูง ด้วยการนำเอาเทคโนโลยีทางการวินิจฉัยด้วยภาพใหม่ๆ เข้ามาใช้ในโรงพยาบาล จุฬาลงกรณ์ เพื่อเป็นการขยายงานของภาควิชาฯ เช่น เครื่องอัลตราซาวนด์และเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (Computed Tomography) และมีการก่อสร้างอาคารจุลจักรพงษ์แทนที่อาคารรัตนสังวาลย์เดิม เพื่อให้เป็นที่ติดตั้งของเครื่องเอกซเรย์
คอมพิวเตอร์ดังกล่าว ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีได้ เสด็จพระราชดำเนินมาทรงประกอบพิธีเปิดอาคารอย่างเป็นทางการและทอดพระเนตรเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เมื่อวันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2524
รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ศีลวัต อรรถจินดา นับได้ว่าเป็นผู้มีคุณูปการแก่ภาควิชา/ฝ่ายรังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทยเป็นอย่างยิ่ง ทั้งต่อองค์กร ศิษย์ เจ้าหน้าที่/นักรังสีการแพทย์ ผู้ใต้บังคับบัญชาทุกระดับชั้น จนทุกคน เรียกขานท่านอาจารย์ว่า “อาจารย์เตี่ย” ซึ่งเปรียบเสมือนพ่อของบ้านหลังนี้
รองศาสตราจารย์ นายแพทย์บุญเที่ยง ศีติสาร (30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2525 – 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2529)
รองศาสตราจารย์ นายแพทย์บุญเที่ยง ศีติสาร สำเร็จการศึกษาแพทยศาสตรบัณฑิต จากมหาวิทยาลัย แพทยศาสตร์เมื่อปี พ.ศ. 2501 และเป็นแพทย์จุฬาฯ รุ่นที่ 8 หลังจากนั้น ท่านจึงได้เข้าเป็นแพทย์ประจำบ้านและ แพทย์ประจำบ้านอาวุโส แผนกรังสีวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญใน
ตำแหน่งอาจารย์ แผนกรังสีวิทยา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2504 และในระหว่างปี พ.ศ. 2506 – 2509 ท่านก็ได้เดินทางไป ศึกษาต่อที่ University of Rochester ประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นเวลา 3 ปี และได้รับ Diploma of American Board of Radiology หลังจากนั้นท่านจึงได้นำเอาความรู้และวิวัฒนาการทางด้านวิชาการทางรังสีวิทยาที่ได้พบเห็นกลับมา ถ่ายทอดให้แก่นิสิตแพทย์ แพทย์ประจำบ้าน และแพทย์ทั่วไปเป็นจำนวนมาก ท่านยังเป็นครูที่เปี่ยมไปด้วยความเมตตา กรุณา มีความเสียสละทุ่มเท มีความอดทน และใจเย็นอย่างยิ่งต่อศิษย์และผู้ร่วมงานทุกระดับเป็นอย่างสูง ท่านเป็น รังสีแพทย์ที่เชี่ยวชาญทางด้านระบบ Musculoskeletal เป็นอย่างยิ่ง และท่านยังได้ร่วมในการร่างหลักสูตรต่างๆ ทั้งในระดับปริญญาและหลังปริญญาของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและของแพทยสภา โดยที่ท่าน ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นทั้งอนุกรรมการและประธานอนุกรรมการสอบความรู้ความชำนาญของแพทย์ประจำบ้านทาง รังสีวิทยาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลายาวนาน
ในวงการวิชาการสาขารังสีวิทยาระดับนานาชาติ ท่านได้รับการยอมรับและเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางทั้งใน กลุ่มของ Association of Radiology, Asian Oceanian Society of Radiology และ International Society of Radiology โดยท่านได้เดินทางไปร่วมประชุมเพื่อเสนอบทความทางวิชาการในการประชุมของสมาคมต่างๆ ทั้งใน ประเทศและต่างประเทศอย่างสม่ำเสมอ นอกจากนั้นท่านยังเคยได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้แทนของประเทศไทยอย่างเป็น ทางการ เพื่อเข้าร่วมประชุมนานาชาติหลายครั้ง และท่านยังได้ร่วมเป็นคณะกรรมการจัดประชุม Asian Oceanian Congress of Radiology (AOCR) ในประเทศไทย จนได้รับรางวัลการจัดประชุมวิชาการนานาชาติดีเด่นจาก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หลังจากนั้นท่านจึงได้รับเป็นประธานในการจัดประชุม Congress of Asian Association of Radiology (AAR) ในเวลาต่อมา นอกจากนี้ท่านยังเป็นผู้ริเริ่มโครงการแลกเปลี่ยนทางวิชาการรังสีวิทยาระหว่าง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและรังสีวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทยกับ Utrecht University ประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งทำให้ รังสีแพทย์รุ่นหลังๆ ได้มีโอกาสเดินทางไปศึกษาและฝึกอบรมระยะสั้นเพิ่มเติม ณ ประเทศเนเธอร์แลนด์เป็นจำนวนมาก
ในด้านการบริหารงานท่านเป็นผู้หนึ่งที่ทำหน้าที่ บุกเบิกและพัฒนาระบบงานภายในภาควิชารังสีวิทยาเพื่อให้มี การทำงานที่คล่องตัว สะดวก รวดเร็ว ดังจะเห็นได้จากในปี พ.ศ. 2513 ท่านได้เสนอให้มีการจัดระบบเก็บฟิล์มตาม Hospital Number และให้มีการจัดทำ Index Card ตามพยัญชนะของชื่อ นามสกุล ควบคู่กันไปด้วย
นอกจากนั้นท่านยังได้เป็นผู้ร่วมริเริ่มก่อตั้งโรงเรียนรังสีเทคนิค โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เพื่อการเพิ่มการผลิตเจ้าหน้าที่รังสีเทคนิคให้บรรลุเป้าหมายตามความต้องการของประเทศและแก้ไขสภาวะขาดแคลน บุคลากรด้านรังสีวิทยาได้เป็นอย่างดี
นอกจากนั้นแล้ว ท่านยังเป็นผู้หนึ่งในการริเริ่มก่อตั้งศูนย์ป้องกันและรักษาโรคมะเร็งของโรงพยาบาล จุฬาลงกรณ์ โดยที่ท่านได้ดำเนินการระดมทุนด้วยวิธีต่างๆ และรับบริจาคจากผู้มีจิตศรัทธาอย่างแข็งขันจนกระทั่ง สามารถดำเนินการก่อสร้างอาคารล้วน – เพิ่มพูล ว่องวานิช ซึ่งเป็นอาคารขนาดใหญ่ ความสูง 9 ชั้นได้เป็นผลสำเร็จ
รองศาสตราจารย์ นายแพทย์บุญเที่ยง ศีติสาร นับเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในด้านการบริหารงานจนได้รับการ มอบหมายและได้รับการแต่งตั้งและเลือกตั้งเป็นหัวหน้าภาควิชารังสีวิทยา, เลขาธิการและนายกรังสีวิทยาสมาคม แห่งประเทศไทยหลายสมัย อีกทั้งยังเป็นผู้ก่อตั้งวิทยาลัยรังสีแพทย์แห่งประเทศไทย ซึ่งภารกิจเหล่านี้กล่าวได้ว่าเป็นงานที่ หนักและยากยิ่ง ท่านจึงเป็นบุคคลที่ทรงคุณค่า ยากจะหาผู้อื่นมาทดแทนได้ และเป็นที่รู้จักกันดีในนามของ “อาจารย์เที่ยง”
รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงมาคุ้มครอง โปษยะจินดา (30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2529 – 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2533)
รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงมาคุ้มครอง โปษยะจินดา สำเร็จการศึกษาแพทยศาสตรบัณฑิตในปี พ.ศ. 2502 และเป็นแพทย์จุฬาฯ รุ่นที่ 9 โดยหลังจากที่ท่านจบการศึกษาเรียบร้อยแล้ว ท่านก็ได้ปฏิบัติงานในหน่วยไอโซโทปส์ ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นหน่วยเวชศาสตร์นิวเคลียร์และสาขาเวชศาสตร์นิวเคลียร์ตามลำดับในปัจจุบัน
รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงมาคุ้มครอง โปษยะจินดา นับเป็นผู้บุกเบิกงานสาขาเวชศาสตร์นิวเคลียร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับรองศาสตราจารย์ นายแพทย์วิชัย โปษยะจินดา ซึ่งในระยะ เริ่มแรกนั้น ท่านต้องอุทิศกำลังกายและเวลาเป็นอย่างมากเพื่อที่จะพัฒนางานด้านเวชศาสตร์นิวเคลียร์ ให้เป็น ที่รู้จักแก่บรรดาแพทย์ทั้งหลายทั้งภายในคณะและนอกคณะ ซึ่งในปัจจุบันสาขาเวชศาสตร์นิวเคลียร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถือได้ว่ามีความเจริญก้าวหน้าอยู่ในระดับแนวหน้า เป็นที่รู้จักทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นผลงานและการวางรากฐานมาจากการทำงานอย่างมุ่งมั่นและจริงจังของท่านและผู้สนับสนุนที่ เข้มแข็ง (รศ.นพ.วิชัย โปษยะจินดา) โดยท่านเป็นผู้ที่นำสาขาเวชศาสตร์นิวเคลียร์เข้าไปให้เป็นที่รู้จักและยอมรับในความ สามารถและผลงานวิจัยในต่างประเทศโดยเฉพาะทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) ซึ่งได้ให้ความ ช่วยเหลือด้านเครื่องมือ ผู้เชี่ยวชาญ และเงินทุนสนับสนุนโครงการวิจัยต่างๆ ตลอดจนการจัดการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ ด้านเวชศาสตร์นิวเคลียร์ นอกจากนี้ยังไว้วางใจส่งผู้รับทุนจากทบวงการฯมาดูงานและฝึกอบรมที่สาขาเวชศาสตร์ นิวเคลียร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ
นอกจากนั้นแล้ว ท่านยังได้สนับสนุนสาขารังสีรักษาในการขอความช่วยเหลือด้านผู้เชี่ยวชาญจากทบวงการ พลังงานปรมาณูระหว่างประเทศมาช่วยงานด้านการใช้เครื่องเร่งอนุภาคในการรักษาผู้ป่วยได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพตามมาตรฐานสากล
รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงมาคุ้มครอง โปษยะจินดา นอกจากจะมีความรู้ความสามารถในด้านวิชาการและ มีผลงานด้านการวิจัยมากมายแล้ว ท่านก็ยังเป็นผู้บริหารที่มีความสามารถ มีความรอบรู้และสามารถตัดสินใจได้อย่าง ถูกต้อง และได้เคยดำรงตำแหน่งบริหารต่างๆ ได้แก่ หัวหน้าสาขาเวชศาสตร์นิวเคลียร์, รองคณบดีฝ่ายวิจัย, หัวหน้า ภาควิชารังสีวิทยา, อนุกรรมการพลังงานปรมาณูในกิจการแพทย์, ประธานคณะอนุกรรมการฝึกอบรมและสอบ ความรู้ความชำนาญสาขาเวชศาสตร์นิวเคลียร์ของแพทยสภา และนายกสมาคมเวชศาสตร์นิวเคลียร์แห่งประเทศไทย เป็นต้น
ท่านอาจารย์มาคุ้มครองคือบุคคลหนึ่งที่ได้อุทิศตนทำงานหนักมาตลอดชีวิตรับราชการ โดยเฉพาะในช่วงที่ ท่านทำหน้าที่หัวหน้าภาควิชารังสีวิทยา ในปี พ.ศ. 2529 – 2533 และยังทำหน้าที่รองคณบดีฝ่ายวิจัยด้วย (พ.ศ. 2528 – 2531) ซึ่งในแต่ละวันท่านจะทำงานตั้งแต่เช้าจรดเย็นโดยไม่มีวันหยุดเสาร์และอาทิตย์ เนื่องจากภาควิชารังสีวิทยา มีขอบข่ายของงานกว้างขวางมาก
สำหรับผลงานที่น่าภาคภูมิใจของท่านในช่วงที่ดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชารังสีวิทยา คือ การก่อสร้าง อาคารเอลิสะเบธ ซึ่งเป็นอาคารสำหรับเครื่องเร่งอนุภาคสำหรับการรักษาโรคมะเร็ง โดยเป็นอาคารที่มี ความสมบูรณ์ แบบทั้งด้านการใช้งานและความสวยงาม และหลังจากที่ท่านดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาคฯ ครบ 4 ปีแล้ว อาจารย์ส่วนใหญ่ ต้องการให้ท่านดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาคฯ ต่ออีกวาระหนึ่งแต่ท่านก็ปฏิเสธและพวกเราก็ไม่กล้าที่ จะขอร้องให้ท่าน เสียสละทำงานหนักต่อไปอีก ซึ่งหลังจากที่ท่านไม่ได้ทำหน้าที่หัวหน้าภาคฯ แล้ว แต่ท่านก็ยังคงปฏิบัติหน้าที่เป็นที่ปรึกษา ให้คำแนะนำด้านบริหารแก่ภาควิชารังสีวิทยาและสาขาเวชศาสตร์นิวเคลียร์ นอกจากนี้ท่านยังทำ หน้าที่สอนนิสิตแพทย์ แพทย์ประจำบ้าน รวมถึงการบริการผู้ป่วยดังเช่นอาจารย์คนอื่นๆ และสิ่งที่เราจะลืมไม่ได้ก็คือ ท่านได้ใช้ความสามารถ จัดหาเครื่องวัดความหนาแน่นของกระดูก (Bone densitometer) เป็นเครื่องแรกของประเทศไทย เพื่อใช้ในการสอน และให้บริการแก่ผู้ป่วยและถึงแม้ว่าท่านจะเกษียณอายุราชการไปแล้ว แต่ท่านก็ยังคงอุทิศเวลามาช่วยตรวจและให้ บริการผู้ป่วยโรคไทรอยด์ รวมถึงการสอนแพทย์ประจำบ้านและเป็นที่ปรึกษาแก่คณาจารย์ในสาขาเวชศาสตร์นิวเคลียร์ อย่างสม่ำเสมอจนถึงปัจจุบัน
ศาสตราจารย์ แพทย์หญิง คุณหญิงนิตยา สุวรรณเวลา (30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2533 – 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2541)
ศาสตราจารย์แพทย์หญิง คุณหญิงนิตยา สุวรรณเวลาสำเร็จการศึกษาแพทยศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยม) จากมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เมื่อปี พ.ศ. 2506 และเป็นแพทย์จุฬาฯ รุ่นที่ 13 รวมถึง หลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูงทางวิทยาศาสตร์การแพทย์คลินิก (สาขารังสีวิทยา) จากมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ เมื่อปี พ.ศ. 2508, Certificate in Neuroradiology จาก The Bowman Gray School of Medicine Wake Forest University, Winston-Salem N.C., USA เมื่อปี พ.ศ. 2514 และได้รับอนุมัติบัตรแสดงความรู้ความชำนาญในการ ประกอบวิชาชีพเวชกรรมสาขารังสีวิทยา (รังสีวิทยาวินิจฉัย) จากแพทยสภา เมื่อปี พ.ศ. 2516 ท่านได้เข้ารับราชการใน มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ในตำแหน่ง อาจารย์โท ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2509 ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยน ต้นสังกัดเป็นคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี พ.ศ. 2510 โดยท่านได้ปฏิบัติราชการด้วยความสามารถ จนกระทั่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นศาสตราจารย์ในปี พ.ศ. 2526
ตลอดระยะเวลาในการปฏิบัติหน้าที่รับราชการ ท่านได้เสียสละแรงกายและแรงใจในการปฏิบัติงานอย่างเต็มที่ อีกทั้งยังเป็นบุคคลผู้มีจิตใจโอบอ้อมอารี มีความรักและเอื้ออาทรต่อผู้ร่วมงาน และเจ้าหน้าที่ทุกระดับในภาควิชาฯ รวมไป จนถึงลูกศิษย์ที่ได้จบการศึกษาไปแล้ว ตลอดจนมีจิตเมตตากรุณาต่อผู้ป่วยที่มารับการตรวจวินิจฉัยโดยเสมอภาคกัน อีกทั้งยังเป็นผู้ที่มีความรับผิดชอบและเสียสละต่อภาควิชาฯเป็นอย่างยิ่ง และยังเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาภาควิชาฯ ให้มีความเจริญก้าวหน้าทันสมัยอยู่ตลอดเวลา นับได้ว่าท่านเป็นบุคคลผู้มีผลงานทั้งทางด้านบริหารและด้านวิชาการ อย่างมากมายโดยท่านได้ดำรงตำแหน่งทางด้านงานบริหาร ดังนี้
ด้วยความรู้ความสามารถทั้งทางด้านบริหารและวิชาการ ท่านจึงได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอื่นๆ อีกมากมาย ได้แก่
นอกจากนั้นท่านอาจารย์ยังได้ผลิตผลงานวิจัยตีพิมพ์ทั้งตำราและบทความทางวิชาการทางด้านรังสีวิทยาของ ระบบประสาทและหลอดเลือดไว้อย่างมากมาย โดยได้รับรางวัลผลงานวิจัยดีเยี่ยมสาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ ประจำปี พ.ศ. 2527 ของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติเรื่อง “การวัดกะโหลกศีรษะในภาพรังสีของคนไทย” รวมไปจนถึง ผลงานวิจัย ตำรา และบทความหลายเรื่องที่ได้รับการตีพิมพ์ลงในวารสารทางการแพทย์ทั้งในประเทศและต่างประเทศที่มี ชื่อเสียงหลายฉบับ
ในระหว่างที่ท่านดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาฯ ท่านได้พัฒนาภาควิชาฯ ทั้งทางด้านบุคลากรและ เครื่องมือ เครื่องใช้ รวมทั้งการบริการทางด้านรังสีวิทยาของภาควิชาฯ และฝ่ายรังสีวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย อย่างมากมาย โดยทางด้านบุคลากร ท่านได้สนับสนุนให้อาจารย์ และเจ้าหน้าที่ไปศึกษาอบรม ดูงานเพิ่มเติมใน ต่างประเทศ ส่วนในด้านเครื่องมือเครื่องใช้ ท่านได้จัดหาอุปกรณ์ที่ทันสมัยมากมาย ได้แก่ เครื่องสร้างภาพด้วย คลื่นสะท้อนในสนามแม่เหล็ก (Magnetic Resonance Imaging) เครื่องตรวจวินิจฉัยหลอดเลือด (Digital Subtraction Angiographic Unit) ส่วนทางด้านการบริการ ท่านได้พัฒนาการให้บริการผู้ป่วยซึ่งเพิ่มจำนวนขึ้น อย่างมาก เพื่อให้การบริการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยใช้วิชาการที่มีความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยี ในการสร้างภาพทางการแพทย์
นอกเหนือไปจากการพัฒนางานดังกล่าวแล้ว ท่านก็ยังเป็นผู้ที่มีอัธยาศัยงดงามและมีความเมตตา กรุณาต่อผู้ใต้ บังคับบัญชาเป็นอย่างมาก ด้วยคุณสมบัติดังกล่าว ท่านจึงได้รับรางวัลบุคลากรดีเด่นประเภทผู้บริหารหน่วยงานของ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เมื่อปี พ.ศ. 2539 และด้วยความรู้ความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่ราชการ ท่านจึงได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ดังนี้
นอกเหนือจากงานทางด้านบริหาร วิชาการ งานวิจัย และการบริการผู้ป่วยแล้ว ท่านยังมีโอกาสได้รับใช้ใต้เบื้อง พระยุคลบาทตลอดจน พระบรมวงศานุวงศ์ จนกระทั่งได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าชั้นจตุตถ จุลจอมเกล้า (จ.จ.) ในปี พ.ศ. 2541 และได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าชั้นตติยจุลจอมเกล้า (ต.จ.) ในปี พ.ศ. 2544 ต่อมาท่านได้รับพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยาในปี พ.ศ. 2556
ศาสตราจารย์ แพทย์หญิง คุณหญิงนิตยา สุวรรณเวลา นับเป็นผู้ที่มีบุคลิกงดงาม เป็นที่ชื่นชมของบุคลากร รอบด้าน จนกล่าวได้ว่าท่านเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณค่าอย่างยิ่ง ด้วยความรู้ความสามารถของท่านที่มีอยู่อย่าง มากมาย ท่านเป็นครูที่ศิษย์ระลึกได้เสมอในความเมตตาและความตั้งใจจริง ในการถ่ายทอดความรู้ทางวิชาการ และถึงแม้ว่าท่านจะครบวาระเกษียณอายุราชการแล้ว แต่ท่านก็ยังคงมีความตั้งใจที่จะช่วยถ่ายทอดและให้ คำปรึกษาทางด้านวิชาการแก่ศิษย์ต่อไป
รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงวัชรี บัวชุม (30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2541 – 30 กันยายน พ.ศ. 2544)
รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงวัชรี บัวชุม สำเร็จการศึกษาแพทยศาสตรบัณฑิต โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ เมื่อปี พ.ศ. 2510 และเป็นแพทย์จุฬาฯ รุ่นที่ 17 โดยหลังจากที่ท่านจบแพทย์ฝึกหัดและ ได้เป็นแพทย์ประจำบ้านอายุรศาสตร์เป็นระยะเวลา 1 ปีแล้ว ท่านก็ได้เข้าปฏิบัติงานในสาขาเวชศาสตร์นิวเคลียร์และ ได้รับการบรรจุเป็นอาจารย์ ภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปี พ.ศ. 2513 และได้รับ อนุมัติบัตรผู้เชี่ยวชาญสาขารังสีรักษาและเวชศาสตร์นิวเคลียร์จากแพทยสภา ในปี พ.ศ. 2518 และต่อมาเป็น Research Fellow in Physics and Nuclear Medicine ณ Mount Sinai School of Medicine มลรัฐนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ในปี พ.ศ. 2520
นับเป็นระยะเวลาอันยาวนานที่รองศาสตราจารย์แพทย์หญิงวัชรี บัวชุมได้ทุ่มเทแรงกายและแรงใจในการทำงาน เพื่อสาขาเวชศาสตร์นิวเคลียร์ เพื่อภาควิชารังสีวิทยา เพื่อคณะแพทยศาสตร์ และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ จึงไม่น่า แปลกใจที่ท่านจะเป็นที่รักของศิษย์ เพื่อนร่วมงาน และเจ้าหน้าที่ทุกคน ซึ่งนั่นเป็นเพราะท่านเป็นผู้ที่มีความเมตตา โอบอ้อมอารี มีความเที่ยงธรรม และที่สำคัญที่สุดคือ ท่านเป็นผู้ที่มีความจริงใจกับทุกๆ คน
ในฐานะของการเป็นอาจารย์เวชศาสตร์นิวเคลียร์ ท่านมีความตั้งใจและมีความมุ่งมั่นในการถ่ายทอด ความรู้ให้แก่ศิษย์ทุกคนด้วยความสามารถ เฉพาะตัวของท่านในการอธิบายเนื้อหาที่ยากให้สามารถเข้าใจได้ง่าย และจะสอดแทรกเรื่องคุณธรรมและจริยธรรมอยู่เสมอ โดยเฉพาะสิ่งที่แพทย์พึงปฏิบัติต่อผู้ป่วยอยู่เสมอ นั่นจึงทำให้ ลูกศิษย์ทุกคนต่างได้เรียนรู้และซึมซับความเป็นแพทย์ที่ดีจากสิ่งที่ท่านได้พร่ำสอนและจากการที่ได้เห็นท่านปฏิบัติต่อ ผู้ป่วยด้วยความเมตตาและเห็นอกเห็นใจอยู่เสมอ และนอกเหนือจากงานทางด้านการสอนแล้ว ท่านยังได้ช่วยให้ งานบริการและงานวิจัยของสาขาฯ มีความเจริญรุดหน้าอย่างต่อเนื่อง โดยท่านได้ช่วยอาจารย์ทวีป อาจารย์วิชัย และอาจารย์มาคุ้มครอง สานต่องานในด้านต่างๆ รวมถึงการให้ความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับทบวงการพลังงานปรมาณู ระหว่างประเทศ (IAEA) และการสร้างความสัมพันธ์กับสถาบันอื่นๆ ทั้งในและต่างประเทศ ทำให้เราเป็นสถาบันที่มี ชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับในกลุ่มประเทศแถบเอเชีย ดังจะเห็นได้จากชาวต่างชาติโดยเฉพาะจากประเทศเพื่อนบ้านที่ได้ รับทุนจาก IAEA มาฝึกอบรมดูงานที่สาขาเวชศาสตร์นิวเคลียร์ จุฬาฯ ซึ่งทุกคนจะได้รับการต้อนรับและดูแลอย่างดียิ่ง ประดุจญาติมิตรจากท่าน
นอกเหนือจากงานในหน้าที่โดยตรงของท่านแล้ว ท่านยังมีภาระงานด้านบริหารอีกมากมาย ได้แก่
รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงวัชรี บัวชุม นับว่าเป็นผู้หนึ่งที่มีกลยุทธ์ในการบริหารที่ดีเยี่ยม โดยท่าน จะเป็นแม่แบบที่ดีในการปฏิบัติงาน เป็นผู้ที่รักษากฎระเบียบ ให้คำชมเชยเมื่อลูกน้องปฏิบัติงานได้ดีและว่ากล่าว ตักเตือนอย่างตรงไปตรงมา พร้อมทั้งพร่ำสอนเมื่อลูกน้องปฏิบัติงานผิดพลาด เพื่อให้งานมีการพัฒนาที่ดีขึ้น นอกจากนี้ท่านยังเปิดใจกว้างที่จะรับฟังความคิดเห็น รวมถึงความทุกข์ ความเดือดร้อนของบุคลากร และให้ความ ช่วยเหลือโดยไม่หวังผลตอบแทนใดๆ ทั้งสิ้น
ด้วยจิตใจที่เปี่ยมไปด้วยความมุ่งมั่นและยึดถือประโยชน์ส่วนรวมและ ประโยชน์ของผู้ป่วยเป็นที่ตั้งประกอบกับ การทุ่มเททั้งกำลังกายและกำลังใจให้กับการทำงานเสมอมา จึงทำให้ รองศาสตราจารย์แพทย์หญิงวัชรี บัวชุม ประสบ ความสำเร็จในงานต่างๆ ที่ทำและน้อมนำความเจริญก้าวหน้า มาสู่ภาควิชาคณะแพทยศาสตร์ และโรงพยาบาล จุฬาลงกรณ์อย่างมากมาย และเป็นที่เคารพยกย่องและชื่นชมอย่างยิ่งของพวกเราชาวรังสีวิทยา
รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงสมใจ หวังศุภชาติ (1 ตุลาคม พ.ศ. 2544 – 30 กันยายน พ.ศ. 2552)
รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงสมใจ หวังศุภชาติ สำเร็จการศึกษาในระดับชั้นประถมศึกษาและชั้นมัธยมศึกษา ตอนต้นจากโรงเรียนอัสสัมชัญคอนแวนต์ และสำเร็จการศึกษาในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายจากโรงเรียนเตรียม อุดมศึกษา ก่อนที่จะสำเร็จการศึกษาวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ (เกียรตินิยมอันดับ 2) จาก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสาขาแพทยศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับ 2) จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเป็น ศิษย์เก่าแพทย์จุฬาฯ รุ่นที่ 25 ท่านจบวุฒิบัตรแสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม สาขารังสีวิทยา วินิจฉัย (โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย) แพทยสภา และ Master Degree in DME: Clinical Epidemiology จาก Mc. Master University, Ontario ประเทศแคนาดา และยังได้รับการฝึกอบรมและดูงานใน สถาบันต่างประเทศหลายแห่งทางด้าน Interventional Radiology, MRI และ Cardiac Imaging
รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงสมใจ หวังศุภชาติ เข้ารับราชการที่ภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี พ.ศ. 2522 และเกษียณอายุราชการเมื่อปี พ.ศ. 2554 โดยตลอดระยะเวลารับราชการ ท่านคือผู้ที่มีความรู้ความสามารถในด้านการสอน ด้านการวิจัย และด้านวิชาการโดยเฉพาะความเชี่ยวชาญด้าน รังสีวิทยาวินิจฉัยระบบหัวใจและหลอดเลือด นอกจากนั้นแล้วท่านยังเป็นผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความขยันหมั่นเพียร ซื่อสัตย์ สุจริต มีจิตใจ โอบอ้อมอารี และท่านยังได้ทุ่มเทแรงกายและแรงใจให้กับการเรียนการสอนนิสิตแพทย์ แพทย์ประจำบ้านและแพทย์ประจำบ้านต่อยอดอย่างจริงจัง อีกทั้งยังมีส่วนร่วมในการสอนระดับบัณฑิตศึกษาหลักสูตร ปริญญาวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการพัฒนาสุขภาพ (หลักสูตรนานาชาติ), หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาฉายาเวชศาสตร์ และหลักสูตรสหสาขาวิชาวิศวกรรมชีวเวช จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งนอกเหนือจาก การสอนทางวิชาการแล้ว ท่านยังได้ปลูกฝังความรู้ด้านคุณธรรมและจริยธรรมให้กับนิสิตแพทย์ แพทย์ประจำบ้าน แพทย์ประจำบ้านต่อยอด รวมทั้งนิสิตปริญญาโท ซึ่งท่านนับเป็นตัวอย่างที่ดีในด้านความมีน้ำใจ โอบอ้อมอารี ความซื่อสัตย์ ตรงต่อเวลา และการรักษาระเบียบวินัย ดังจะเห็นได้จากการที่ท่านได้รับความชื่นชมและเป็นที่ยอมรับ ทั้งจากนิสิตแพทย์ แพทย์ประจำบ้านคณาจารย์ เพื่อนร่วมงาน และเจ้าหน้าที่ทุกระดับมาโดยตลอด จึงนับได้ว่าท่านได้ ดำรงตนเป็นอาจารย์แพทย์ที่ดีให้กับนิสิตแพทย์และแพทย์ประจำบ้านได้ยึดถือเป็นแบบอย่าง พร้อมทั้งอุทิศเวลาเพื่อให้ คำปรึกษาแก่นิสิตแพทย์เมื่อมีปัญหา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเรียน การทำงาน ครอบครัว และการวางแผนชีวิตในอนาคต การยอมรับนับถือในฐานะอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญของรองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงสมใจ หวังศุภชาติ ไม่เพียง แต่จะจำกัดอยู่ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเท่านั้น หากแต่ท่านยังได้รับการยอมรับจากหน่วยงานภายนอกมากมาย อาทิ การที่ท่านได้รับเกียรติให้ดำรงตำแหน่งเป็นอนุกรรมการพลังงานปรมาณูในกิจการแพทย์ของสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ, ประธานคณะทำงานบัญชียาหลักแห่งชาติ สาขารังสีวิทยา กระทรวงสาธารณสุข, อนุกรรมการฝึกอบรมและสอบความรู้ ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรมสาขารังสีวิทยาวินิจฉัย ราชวิทยาลัยรังสีแพทย์แห่งประเทศไทยและ กรรมการที่ปรึกษาการลงทุนด้านพัฒนาบุคลากรการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์ในบริการตติยภูมิ ศูนย์โรคมะเร็งแห่งชาติเป็นต้น นอกจากนั้น ท่านยังเป็นผู้ที่มีความสามารถในการสอนและสามารถถ่ายทอดความรู้ ได้อย่างมีประสิทธิภาพเป็นที่ประจักษ์ ดังจะเห็นได้จากการที่ท่านได้รับเชิญจากสถาบันและองค์กรต่างๆ ในการเป็น วิทยากรพิเศษในการประชุมวิชาการและการประชุมเชิงปฏิบัติการซึ่งได้ก่อเกิดเป็นประโยชน์แก่นิสิตแพทย์ แพทย์ทั่วไป รวมทั้งแพทย์ทางระบบหัวใจและหลอดเลือดในการเรียนรู้ด้านการวินิจฉัยด้วยภาพเป็นอย่างมาก
จากความมุ่งมั่นของท่านที่มีต่อศิษย์ ทำให้รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงสมใจ หวังศุภชาติ ได้รับรางวัลยกย่อง เชิดชูเกียรติอาจารย์ด้านการเรียน การสอน “รางวัลอาจาริยมิตต์” ประจำปี พ.ศ. 2554 ของคณะแพทยศาสตร์และ รางวัลอาจารย์แบบอย่างของสภาคณาจารย์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยประจำปี พ.ศ. 2554
ในด้านงานวิจัย ท่านได้ทำผลงานวิจัยตีพิมพ์ในวารสารทั้ง ในและนอกประเทศเป็นจำนวนมากและสม่ำเสมอ ส่วนงานด้านการบริหาร ท่านได้ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าภาควิชารังสีวิทยาถึงสองวาระและได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้บริหาร ที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกล มีความมุ่งมั่น และยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นเสมอ ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ท่านดำรงตำแหน่ง หัวหน้าภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ และหัวหน้าฝ่าย รังสีวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ท่านได้มุ่งเน้นในด้านการพัฒนาบุคลากร โดยสนับสนุนให้อาจารย์และเจ้าหน้าที่ได้ไปศึกษาดูงานและฝึกอบรมเพิ่มพูน ความรู้ทั้งในและนอกประเทศ ส่วนทางด้านเครื่องมือ เครื่องใช้ ท่านก็ได้พยายามจัดหาเครื่องมือเครื่องใช้ที่มีความ ทันสมัยอยู่เสมอ ตลอดจนด้านการบริการที่มีการพัฒนาการ ให้บริการผู้ป่วยที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ สูงสุด อาทิ การริเริ่มโครงการ “Filmless Hospital” ซึ่งเริ่ม ด้วยการจัดซื้อระบบ PACS เป็นต้น นอกเหนือจากการพัฒนา งานในด้านต่างๆ ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ท่านก็ยังเป็น ผู้ที่มีความเมตตากรุณาต่อผู้ร่วมงานและเจ้าหน้าที่ทุกระดับ ในภาควิชารังสีวิทยาและฝ่ายรังสีวิทยา รวมทั้งศิษย์จำนวนมาก ซึ่งจากคุณสมบัติทั้งหมดนี้จึงทำให้ท่านได้รับรางวัล บุคลากรดีเด่นประเภทผู้บริหารหน่วยงานของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์สภากาชาดไทย ประจำปี พ.ศ. 2546
แม้ว่าท่านจะเกษียณอายุราชการในวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2554 แต่ท่านก็ยังคงมีความตั้งใจที่จะช่วย ทำงานให้แก่ภาควิชาฯ โดยเฉพาะการเรียนการสอนทางด้านหัวใจและ หลอดเลือดด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์และ เครื่องสร้างภาพด้วยคลื่นสะท้อนในสนามแม่เหล็ก (Magnetic Resonance Imaging) และการบริการการตรวจ วินิจฉัยผู้ป่วยทางเดินอาหารและทางเดินปัสสาวะด้วยเอกซเรย์พิเศษให้แก่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
รองศาสตราจารย์ นายแพทย์เกียรติ อาจหาญศิริ (1 ตุลาคม พ.ศ. 2552 – 30 กันยายน พ.ศ. 2556)
รองศาสตราจารย์ นายแพทย์เกียรติ อาจหาญศิริ สำเร็จการศึกษาแพทยศาสตรบัณฑิต จากคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อปี พ.ศ. 2525 ต่อมาท่านก็ได้รับประกาศนียบัตรบัณฑิตทางวิทยาศาสตร การแพทย์คลินิก สาขารังสีวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี พ.ศ. 2529 และจากนั้นท่านก็ได้รับวุฒิบัตรแสดงความรู้ ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม สาขารังสีวิทยาแพทยสภา/ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี พ.ศ. 2531 และได้รับหนังสืออนุมัติบัตรแสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม อนุสาขารังสีร่วมรักษาของลำตัว แพทยสภาในปีพ.ศ. 2547 และได้รับหนังสืออนุมัติบัตรแสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม อนุสาขาภาพวินิจฉัยชั้นสูงแพทยสภา ในปี พ.ศ. 2548
รองศาสตราจารย์ นายแพทย์เกียรติ อาจหาญศิริ เริ่มต้นเข้ารับราชการที่ภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี พ.ศ. 2533 จวบจนกระทั่งถึงปัจจุบัน โดยตลอดระยะเวลาที่ท่านได้รับราชการนั้น ท่านได้ ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความขยันหมั่นเพียร ซื่อสัตย์สุจริต และมีจิตใจโอบอ้อมอารี ในด้านการสอน ท่านก็ได้ทุ่มเททั้ง แรงกายและแรงใจให้กับการเรียนการสอนนิสิตแพทย์ แพทย์ประจำบ้าน และแพทย์ประจำบ้านต่อยอดอย่างจริงจัง ซึ่งนอกเหนือจากการสอนทางวิชาการแล้ว ท่านก็มักจะสอดแทรกความรู้ด้านคุณธรรมและจริยธรรมให้กับนิสิตแพทย์ แพทย์ประจำบ้าน แพทย์ประจำบ้านต่อยอด รวมทั้งนิสิตปริญญาโท ซึ่งถือเป็นแบบอย่างที่ดีที่อาจารย์แพทย์รุ่นหลัง ควรพึงปฏิบัติตาม สำหรับงานทางด้านวิจัย ท่านได้ทำผลงานวิจัยตีพิมพ์ในวารสารทั้งในและนอกประเทศ ส่วนงาน ด้านการบริหาร ท่านได้ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าภาควิชารังสีวิทยา และเป็นผู้บริหารที่มีความมุ่งมั่น ขยันหมั่นเพียร โดยตลอด ระยะเวลาที่ท่านดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาฯ คณะแพทยศาสตร์ และหัวหน้าฝ่ายรังสีวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ท่านได้ทำการพัฒนาในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านบุคลากร ซึ่งท่านได้สนับสนุนให้อาจารย์และเจ้าหน้าที่ ได้ไปศึกษาดูงานและฝึกอบรมเพิ่มพูนความรู้ทั้งในและนอกประเทศ ด้านเครื่องมือเครื่องใช้ ท่านก็ได้พยายามจัดหา เครื่องมือเครื่องใช้ที่ทันสมัย เช่น เครื่องสร้างภาพด้วยคลื่นสะท้อนในสนามแม่เหล็ก (MRI) เครื่องเอกซเรย์ตรวจวินิจฉัย หลอดเลือด เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ รวมถึงการพัฒนาระบบ PACS และ RIS เป็นต้น ส่วนด้านการบริการ ท่านก็ได้จัด ให้มีการให้บริการผู้ป่วยที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นควบคู่ไปกับการพัฒนาการบริการเพื่อให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยพยายามลดขั้นตอนในการทำเอกซเรย์และนอกเหนือจากการพัฒนางานในด้านต่างๆ แล้วท่านก็ยังเป็นผู้ที่มีความ เมตตากรุณาต่อผู้ร่วมงานและเจ้าหน้าที่ทุกระดับในภาควิชาฯและฝ่ายรังสีวิทยารวมทั้งศิษย์มากมายซึ่งจากคุณสมบัติ ดังกล่าวจึงทำให้ท่านได้รับรางวัลบุคลากรดีเด่นของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ประจำปีพ.ศ. 2552 และได้รับพระราชทานเกียรติบัตร “จริยธรรมสรรเสริญ” จากแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ประจำปี พ.ศ. 2554
ตลอดช่วงระยะเวลาที่รองศาสตราจารย์นายแพทย์เกียรติ อาจหาญศิริ ดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าภาควิชา/ฝ่าย รังสีวิทยา นับเป็นช่วงเวลาที่ภาควิชา/ฝ่ายรังสีวิทยามีการขยายงานออกไปอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ยังเป็นช่วงที่เผชิญกับ ภาวะวิกฤตทางการเมืองในปี พ.ศ. 2553 และภาวะน้ำท่วมครั้งใหญ่ในปี พ.ศ. 2554 แต่ถึงกระนั้นก็ตามท่านก็ยัง สามารถประคับประคองสถานการณ์ให้ผ่านพ้นช่วงเวลาวิกฤตต่างๆ มาได้ด้วยดี ซึ่งนั่นก็เป็นเพราะท่านมีความมุ่งมั่น ในการพัฒนาด้วยความตั้งใจและความทุ่มเท จึงไม่น่าแปลกที่เรามักจะเห็นท่านทำงานล่วงเวลาอยู่บ่อยๆแม้ว่าในช่วง ระยะเวลาหนึ่งที่ท่านประสบปัญหาทางด้านสุขภาพและต้องได้รับการผ่าตัด แต่ท่านก็ยังคงทุ่มเทให้กับงานเท่าที่ท่านจะ สามารถทำได้ในช่วงระยะเวลาที่ท่านยังอยู่ในช่วงพักฟื้น สำหรับเราทุกคนท่านเป็นคนสุภาพ คุยสนุก และเป็นที่รักใคร่ของ
บุคลากรทั้งในและนอกภาควิชา/ฝ่ายรังสีวิทยา และยังเป็นผู้ที่มีจิตเมตตาต่อผู้ป่วยที่มารับการตรวจทางรังสีวิทยาวินิจฉัย เป็นอย่างมาก ดังจะเห็นได้จากหลายๆครั้งที่เกิดการขาดแคลนบุคลากรในการออกตรวจให้บริการผู้ป่วยซึ่งท่านก็จะเป็น ผู้อาสาที่จะทำงานบริการในช่วงที่มีการขาดแคลนช่วงนั้นๆ แม้ว่าท่านจะมีงานบริหารที่ยุ่งเพียงใดก็ตาม ทำให้ผู้ป่วย ไม่ขาดโอกาสที่จะได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้นท่านยังให้ความสนิทสนมกับผู้ร่วมงานและเจ้าหน้าที่ ทุกระดับโดยไม่ถือตัว ดังเช่นในงานเกษียณของเจ้าหน้าที่แต่ละคน ท่านก็สามารถพูดถึงเจ้าหน้าที่คนนั้นได้อย่างเป็น ธรรมชาติและสนุกสนาน จึงนับได้ว่าคุณงามความดีที่ท่านได้ทำให้กับภาควิชา/ฝ่ายรังสีวิทยา คือตัวอย่างที่ดีที่จะเป็น แม่แบบให้กับบุคลากรในภาควิชา/ ฝ่ายรังสีวิทยาได้เจริญรอยตามสืบเนื่องต่อไป
รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงสุกัลยา เลิศล้ำ (1 ตุลาคม พ.ศ. 2556 – ปัจจุบัน)
รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงสุกัลยา เลิศล้ำ สำเร็จการศึกษาแพทยศาสตรบัณฑิตจากจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัยเมื่อปี พ.ศ. 2522 หลังจากนั้นท่านก็ได้รับวุฒิบัตรแสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม สาขารังสีวิทยาทั่วไป (โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย) แพทยสภาเมื่อปี พ.ศ. 2528 และ Master of Science in Clinical Epidemiology จากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเมื่อปี พ.ศ. 2546 และได้หนังสือ อนุมัติบัตรเป็นผู้มีความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม อนุสาขาภาพวินิจฉัยระบบประสาท เมื่อปี พ.ศ. 2547
รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงสุกัลยา เลิศล้ำ ได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการสังกัดคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2531 ซึ่งท่านเป็นผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญทางด้านประสาท รังสีวิทยาวินิจฉัยและยังเป็นบุคคลที่ทุ่มเทให้กับงานทางด้านประสาทรังสีวิทยาวินิจฉัยเป็นอย่างมาก แม้ว่าในช่วง ระยะแรกของการทำงานทางด้านนี้จะมีรังสีแพทย์ที่จบทางด้านนี้เป็นจำนวนน้อย หากแต่ปริมาณของผู้ป่วยที่มารับ การตรวจวินิจฉัยกลับมีจำนวนมาก แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ท่านก็ไม่เคยย่อท้อต่อการทำงานทางด้านนี้เลยแม้แต่น้อย ซึ่งในช่วงเริ่มต้นของการทำงาน ท่านก็ไม่ได้ทำงานทางด้านประสาทรังสีวิทยาวินิจฉัยแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ท่านยังมีความรู้ความสามารถทางด้านรังสีวินิจฉัยในระบบอื่นๆโดยภาพที่เรามักจะเห็นจนชินตานั่นก็คือท่านจะมา ทำงานตั้งแต่เช้าเพื่อที่จะมาดูแลงานบริการที่ท่านรับผิดชอบและเข้าร่วมประชุมกิจกรรมการเรียนการสอนของแพทย์ ประจำบ้าน และถึงแม้จะไม่ใช่เป็นระบบทางด้านประสาทรังสีวิทยาวินิจฉัยก็ตามแต่ท่านก็ได้สั่งสอนศิษย์ด้วยความรู้ของ ท่านอย่างเต็มความสามารถ และด้วยปริมาณงานที่มาก จึงไม่แปลกที่เรามักจะเห็นท่านเข้ามาทำงานในวันหยุด สุดสัปดาห์เป็นประจำ นอกจากนี้ท่านยังได้เอาใจใส่และอบรมให้ศิษย์ดูแลผู้ป่วยที่มารับการตรวจทางรังสีวิทยาวินิจฉัย ไม่ใช่ดูผู้ป่วยจากฟิล์มเอกซเรย์เพียงอย่างเดียว ในเวลาต่อมา เมื่อลักษณะของงานเริ่มแบ่งเป็นระบบที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ทำให้ท่านสามารถที่จะทำงานทางด้านประสาทรังสีวิทยาวินิจฉัยได้อย่างเต็มที่ประกอบกับเริ่มมีอาจารย์บรรจุเข้ามาช่วยทำงานทางด้านประสาทรังสีวิทยาวินิจฉัยเพิ่มขึ้นในระดับหนึ่ง แต่อย่างไรก็ตาม ความรู้ทางด้านประสาทรังสีวิทยาวินิจฉัย ก็มีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วเป็นอย่างมากและมีการแบ่งเป็นหน่วยย่อยมากมาย กิจกรรมการเรียนการสอนทางด้าน ประสาทรังสีวิทยาวินิจฉัยจึงเกิดขึ้นมากมาย แต่ด้วยความเป็นครูที่รักและมีความสุขในการสอนศิษย์และมีทีมอาจารย์ ทางด้านประสาทรังสีวิทยาวินิจฉัยที่ดี ทำให้ท่านทำงานได้อย่างไม่ย่อท้อ จนกระทั่งได้รับความชื่นชมทางด้าน การเรียนการสอน และเป็นบุคคลที่รักของนิสิตแพทย์ แพทย์ประจำบ้าน แพทย์ประจำบ้านต่อยอด แพทย์ elective จากโรงเรียนแพทย์ต่างสถาบันหรือที่อื่นๆ อาจารย์แพทย์จากประสาทอายุรศาสตร์ศัลยกรรมประสาท จักษุวิทยา หู คอ จมูก จนอาจกล่าวได้ว่าท่านเป็นที่พึ่งพาและที่ปรึกษาของทั้งอาจารย์รุ่นหลังๆ ศิษย์ปัจจุบัน ศิษย์เก่า และท่านยังนับเป็น แบบอย่างที่ดีของการไม่หยุดนิ่งในการแสวงหาความรู้ใหม่ๆ อยู่เสมอและนำมาปรับใช้เพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้ป่วย ทั้งหมดนี้ทำให้ท่านได้รับรางวัลยกย่องเชิดชูเกียรติอาจารย์ด้านการเรียนการสอน รางวัล “อาจาริยมิตต์”จาก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประจำปี พ.ศ. 2552 นอกจากนี้ท่านก็ยังมีผลงานทางด้านวิชาการ ด้านงานวิจัย ทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ จนกระทั่งท่านได้รับตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์เมื่อปี พ.ศ. 2534 และรองศาสตราจารย์เมื่อปี พ.ศ. 2549 และด้วยความที่ท่านเป็นที่ยอมรับในความรู้ ความสามารถ ท่านจึงมักจะถูก รับเชิญให้เป็นอาจารย์ทั้งในคณะอื่นๆ ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยอื่นๆรวมถึงการเป็นวิทยากร ในการประชุมวิชาการทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ
นอกเหนือจากงานทางด้านการเรียนการสอนและการวิจัยแล้ว ท่านก็ยังดำรงตำแหน่งต่างๆดังต่อไปนี้
รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงสุกัลยา เลิศล้ำนับเป็นอาจารย์ที่ทุ่มเทการทำงานให้กับคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย อย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยและยังเป็นอาจารย์ที่ เอาใจใส่ผู้ป่วยที่เข้ามารับการตรวจวินิจฉัยทางรังสีวิทยาและเป็นอาจารย์ที่เอาใจใส่ต่อศิษย์ทุกคน ท่านจึงเป็นแบบอย่าง ที่ดีที่ทำให้รังสีแพทย์ยึดถือและจะเจริญรอยตามแบบอย่างที่ดีเช่นนี้สืบไป